พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมหารือกับศาสตราจารย์ ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี ประธานกรรมการบริหารสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการฯ และคณะผู้บริหาร สมศ. เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม 2558 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ
ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวว่า การเข้าพบในครั้งนี้เพื่อแสดงความยินดีรัฐมนตรีในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง และเพื่อบูรณาการการใช้ประโยชน์จากผลการประเมินคุณภาพภายนอกในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำการประเมินไปแล้ว 3 รอบ โดยมีผลการประเมินรอบสาม ดังนี้
- ผลการรับรองมาตรฐานระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน รอบสาม (พ.ศ.2554-2558) ในสถานศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 32,844 แห่ง มีผลการรับรองระดับดีมาก 2,574 แห่ง ระดับดี 17,802 แห่ง และยังไม่รับรอง 12,468 แห่ง คือ
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีผลการรับรองระดับดีมาก 2,198 แห่ง ระดับดี 15,803 แห่ง และไม่รับรอง 11,556 แห่ง
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) มีผลการรับรองระดับดีมาก 277 แห่ง ระดับดี 1,143 แห่ง และไม่รับรอง 545 แห่ง
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มีผลการรับรองระดับดีมาก 27 แห่ง ระดับดี 14 แห่ง และไม่รับรอง 2 แห่ง
- ผลการรับรองมาตรฐานด้านการอาชีวศึกษา รอบสาม (พ.ศ.2554-2558) ในสถานศึกษาจำนวน 782 แห่ง มีผลการรับรองระดับดีมาก 75 แห่ง ระดับดี 547 แห่ง และไม่รับรอง 160 แห่ง คือ
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (อาชีวศึกษาของรัฐ) มีผลการรับรองระดับดีมาก 60 แห่ง ระดับดี 340 แห่ง และไม่รับรอง 15 แห่ง
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (หรืออาชีวศึกษาของเอกชน) มีผลการรับรองระดับดีมาก 15 แห่ง ระดับดี 205 แห่ง และไม่รับรอง 144 แห่ง
- ผลการรับรองมาตรฐานระดับอุดมศึกษา รอบสาม (พ.ศ.2554-2558) ในสถานศึกษาจำนวน 260 แห่ง มีผลการรับรองระดับดีมาก 79 แห่ง ระดับดี 177 แห่ง และไม่รับรอง 4 แห่ง
ในส่วนของการประเมินประเมินคุณภาพภายนอก รอบสี่ (พ.ศ.2559-2563) สมศ. ใช้เกณฑ์การประเมินตามกฎกระทรวงฯ 4 ด้านคือ
1) ผลการจัดการศึกษาในแต่ละระดับและประเภทการศึกษา
2) การบริหารจัดการศึกษา
3) การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
4) การประกันคุณภาพภายใน
โดยมีแผนที่จะประเมินสถานศึกษาที่รับประเมินคุณภาพภายนอกรอบสาม (ปีงบประมาณ 554) และประเมินเชิงพื้นที่ รวม 22 จังหวัด ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สมศ.ได้นำเสียงสะท้อนจากสังคมและรับนโยบายจากรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกประจิน จั่นตอง) ที่กำกับดูแล มาพัฒนาและปรับปรุงรูปแบบการประเมินในรอบสี่ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
1) การประเมินเพื่อพัฒนา เป็นการประเมินตามข้อกำหนดของกฎหมายด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศแบบออนไลน์ (Compulsory Online Assessment) เพื่อลดภาระด้านเอกสาร มีความสะดวกและรวดเร็ว ทันสถานการณ์ โดยจะทำการจัดกลุ่มประเมินสถานศึกษา เพื่อรายงานต่อสถานศึกษาและต้นสังกัด 5 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 5 ต้นสังกัดควรให้การส่งเสริมในการเป็นต้นแบบ
กลุ่มที่ 4 ต้นสังกัดควรให้การส่งเสริมเพื่อยกระดับมาตรฐาน
กลุ่มที่ 3 ต้นสังกัดต้องให้การสนับสนุนเพื่อพัฒนา
กลุ่มที่ 2 ต้นสังกัดต้องให้การสนับสนุนเพื่อแก้ปัญหา
กลุ่มที่ 1 ต้นสังกัดต้องให้การสนับสนุนเพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน
2) การประเมินเพื่อรับรองมาตรฐาน เป็นการขอรับการประเมินเพื่อรับรองมาตรฐานตามความสมัครใจ (Voluntary Accreditation) ของสถานศึกษา จำแนกมาตรฐานเป็น 2 ส่วนคือ
- มาตรฐานระดับชาติ เพื่อส่งเสริมให้สถานศึกษาพัฒนาคุณภาพให้ได้มาตรฐานที่กำหนดใน 3 รูปแบบ ได้แก่ ประเมินทั่วไป ประเมินเฉพาะทาง และประเมินโดยกำหนดเป้าหมายร่วม
- มาตรฐานระดับนานาชาติ เพื่อส่งเสริมให้สถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ พัฒนาคุณภาพและยกระดับมาตรฐานสากล ใน 2 รูปแบบ คือ แบบก้าวหน้า โดยการประเมินร่วมไทย-สากล หรือประเมินโดยองค์กรนานาชาติ และแบบท้าทาย โดยการจัดอันดับอาเซียน จัดอันดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และจัดอันดับโลก
พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการรับฟังบรรยายสรุปผลการดำเนินงานของ สมศ.พบว่า การประเมินภายนอกเป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์ เพียงแต่ที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายคือ ผู้ประเมินและผู้ถูกประเมิน ยังไม่ได้หันหน้ามาคุยกันหรือมีส่วนร่วมในการประเมินร่วมกัน จึงต้องการให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความเข้าใจที่ตรงกันก่อน โดยได้มอบให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่ประสานผู้แทนจาก สพฐ., สอศ., สกอ. เข้าร่วมประชุมหารือในรายละเอียดของตัวชี้วัดการประเมินรอบสี่ในทุกระดับอย่างรอบคอบเสียก่อน เพื่อจะได้มีความเข้าใจที่ตรงกัน และสามารถสื่อสารไปยังสถานศึกษา ครู นักเรียนนักศึกษา ตลอดจนผู้ปกครอง ได้รับรู้และเข้าใจในทิศทางเดียวกัน
ที่มา กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 8 ตุลาคม 2558