พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 10/2558 เมื่อวันพุธที่ 7 ตุลาคม 2558 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีสาระสำคัญสรุปดังนี้
รับทราบการขับเคลื่อนตามนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ของโรงเรียนเอกชน
ที่ประชุมรับทราบการขับเคลื่อนการจัดกิจกรรมตามนโยบาย“ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ของโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งมีโรงเรียนที่มีศักยภาพและมีความพร้อมจะเข้าร่วมจัดกิจกรรมในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 รวม 300 โรงเรียนทั่วประเทศ แบ่งเป็นโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร 15 โรงเรียน และโรงเรียนในส่วนภูมิภาค 285 โรงเรียน
โดย สช.ได้จัดทำแนวทางการบริหารจัดการเรียนให้สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนเอกชน และได้ยึดหลักการจัดกิจกรรมในรูปแบบของ Head-Heart-Hand อาทิ เกมกระดาน (Crossword & A-Math) หมากรุก หมากฮอส นักประวัติศาสตร์น้อย เงื่อนพิศวง สาธิตพัฒนาน่ารัก โขน อาหารเพื่อชีวิต
นอกจากนี้ ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการอบรม Smart Trainer ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อนำมาขยายผลให้กับโรงเรียนในสังกัด และในเร็วๆ นี้จะจัดประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงานและจัดทำคู่มือการจัดกิจกรรม พร้อมทั้งเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ เพื่อให้โรงเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
รับทราบการพัฒนาสถานศึกษาเฉพาะทางของอาชีวะ
ที่ประชุมรับทราบการพัฒนาสถานศึกษาเฉพาะทาง ประจำปีงบประมาณ 2558 ตามนโยบาย “การส่งเสริมอาชีวศึกษาให้มีความเป็นเลิศเฉพาะทาง” ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งได้ทำการคัดเลือกสถานศึกษาเป็นสถานศึกษานำร่องในการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2559-2560 รวม 12 แห่ง โดยใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาเลือกสาขาวิชาและสถานศึกษาที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลด้านการส่งเสริมการลงทุนใน 6 ซุปเปอร์คลัสเตอร์อุตสาหกรรม เน้นสถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนอยู่แล้ว มีความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์ อยู่ในพื้นที่การพัฒนาอุตสาหกรรมประเภทนั้นๆ ตลอดจนมีความร่วมมือกับสถานประกอบการทั้งในและต่างประเทศที่เข้มแข็ง
- ผลการคัดเลือกสถานศึกษาเฉพาะทางนำร่อง ปีงบประมาณ 2559
กลุ่มคลัสเตอร์
|
สาขาวิชา
|
สถานศึกษาเฉพาะทางนำร่อง
|
1. คมนาคม
|
พาณิชย์นาวี
|
วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือ นครศรีธรรมราช
|
2. ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์
|
ปิโตรเคมี
|
วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด
|
3. อาหาร
|
เทคโนโลยีอาหารปลอดภัย
|
วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีพะเยา
|
4. แม่พิมพ์และชิ้นส่วน
ยานยนต์
|
แม่พิมพ์
|
วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม
|
5. ท่องเที่ยวและการโรงแรม
|
ท่องเที่ยวและการโรงแรม
|
วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย
|
6. ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
|
ไฟฟ้ากำลัง
|
วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฝผ. (แม่เมาะ)
|
- ผลการคัดเลือกสถานศึกษาเฉพาะทางนำร่อง ปีงบประมาณ 2560
กลุ่มคลัสเตอร์
|
สาขาวิชา
|
สถานศึกษาเฉพาะทางนำร่อง
|
1. คมนาคม
|
ขนส่งระบบราง
|
วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ
|
2. ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์
|
ปิโตรเลียม
|
วิทยาลัยเทคนิคหาดใหญ่
|
3. อาหาร
|
เทคโนโลยีอาหารปลอดภัย
|
วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี
|
4. แม่พิมพ์และชิ้นส่วน
ยานยนต์
|
ชิ้นส่วนยานยนต์
|
วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา
|
5. ท่องเที่ยวและการโรงแรม
|
ท่องเที่ยวและการโรงแรม
|
วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี
|
6. ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
|
ไฟฟ้ากำลัง อิเล็กทรอนิกส์
|
วิทยาลัยเทคนิคนครนายก
|
นโยบายดังกล่าวจะช่วยยกระดับสถานศึกษาอาชีวศึกษา ให้เป็นสถานศึกษาวิชาชีพเฉพาะทางครอบคลุม 6 ซุปเปอร์คลัสเตอร์อุตสาหกรรม ส่งเสริมการเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานสมรรถนะเพื่อการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ มาตรฐานฝีมือแรงงาน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอาชีวศึกษาสาขาเฉพาะทางร่วมกับกลุ่มประเทศ CLMV
หารือการจัดทำแอพพลิเคชัน Click2School ของ สป.
ที่ประชุมได้หารือถึงการพัฒนาข้อมูลด้านการศึกษานำเสนอผ่านแอพพลิเคชัน "กดดูรู้ที่เรียน" หรือ Click2school ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเป็นช่องทางในการนำเสนอข้อมูลด้านการศึกษาบนอุปกรณ์เคลื่อนที่แบบพกพาแบบในทุกระดับการศึกษาและทุกสังกัด ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา อุดมศึกษา โรงเรียนประเภทอื่น ตลอดจนแหล่งเรียนรู้ เช่น ห้องสมุดและศูนย์เรียนรู้ต่างๆ
ซึ่งหากได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชันดังกล่าวจนมีความสมบูรณ์แล้ว จะมีส่วนช่วยผู้ปกครองและนักเรียนในการค้นหาข้อมูลโรงเรียนในระยะตำแหน่งที่เปิดใช้งานแอพพลิเคชันในรัศมี 1-50 กิโลเมตร เมื่อกดค้นหาข้อมูลสถานศึกษาจะแสดงที่ตั้งในระบบแผนที่เชิงพื้นที่และภาพถ่ายดาวเทียม (GIS) แสดงข้อมูลพื้นฐานของสถานศึกษา ตลอดจนช่องทางการติดต่อสื่อสาร ทั้งหมายเลขโทรศัพท์ เว็บไซต์ อีเมล
ที่ประชุมได้ขอให้หน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในการให้ข้อมูลสถานศึกษาในสังกัดเพิ่มเติม เพื่อทำให้ระบบมีความสมบูรณ์มากที่สุด รวมทั้งให้มีการออกแบบแอพพลิเคชันที่สวยงาม น่าติดตาม เนื้อหามีความน่าสนใจเข้าใจได้ง่าย และเป็นประโยชน์ต่อพ่อแม่ผู้ปกครองและนักเรียนนักศึกษา ตลอดจนควรมีการอัพเดทข้อมูลให้มีความทันสมัยอย่างต่อเนื่องด้วย
เรื่องนายกรัฐมนตรีแจ้งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ เช่น
- การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์งานด้านต่างประเทศ ซึ่งได้มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายพิษณุ เครืองาม) เป็นประธานขับเคลื่อนในเรื่องนี้ โดยมีกระทรวงการต่างประเทศทำหน้าที่รวบรวมงานด้านต่างประเทศของแต่ละกระทรวงในทุกสัปดาห์ เพื่อนำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนได้รับทราบทางช่องทางต่างๆ จึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ด้วย
- การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก หากเสร็จสมบูรณ์จะส่งให้กระทรวงต่างๆ ช่วยกันพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ ความสอดคล้องของนโยบายกับการปฏิรูป ตลอดจนความต้องการเพิ่มเติมเพื่อช่วยขับเคลื่อน และปัญหาอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้น
- ความหมายของประชารัฐ แตกต่างจากประชานิยม เพราะประชารัฐจะคำนึงถึงความพึงพอใจของประชาชนและดำเนินงานตามความต้องการของประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางความยั่งยืนของรัฐบาล
- การบริหารงบประมาณ ขอให้ทุกกระทรวงดำเนินการตามกรอบแผนงานที่วางไว้อย่างต่อเนื่องและโปร่งใส
- ฝากการบ้านกระทรวงศึกษาธิการ เช่น แนวทางการให้ความช่วยเหลือเรื่องการประเมินมหาวิทยาลัยนานาชาติ (สกอ.), การประสานกรมสรรพากรในการส่งนักศึกษาไปช่วยจัดทำบัญชีให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวนกว่า 2 ล้านราย เพื่อให้สามารถจดทะเบียนธุรกิจได้ (สอศ.), ขอให้ช่วยสอนประชาชนให้จัดทำบัญชีครัวเรือนเป็น และวิเคราะห์การใช้จ่ายของตนเองได้ด้วย โดยใช้แนวทางของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการช่วยเหลือผู้อื่น เช่น การให้เครื่องมือจับปลา ไม่ใช่ให้ปลา (สพฐ./สำนักงาน กศน.)
นอกจากนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้ขอให้องค์กรหลักและหน่วยงานในกำกับ พิจารณา
- ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์และอาคารสถานที่ ทั้งหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาคให้มีความเรียบร้อยสวยงามอยู่เสมอ โดยเฉพาะธงชาติ ธงราชวงศ์ และตราสัญลักษณ์ประจำกระทรวง ขอให้ใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะถือเป็นความสง่างามของกระทรวง
- การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อใช้ประกอบการหาสาเหตุของปัญหาและวางแนวทางการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
- การแก้ไขปัญหาองค์การค้าของ สกสค. ซึ่งมีภาวะขาดทุนถึง 5,300 ล้านบาท ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแล เริ่มจากหยุดการขาดทุนและสร้างกำไร เพื่อให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ได้ขอความร่วมมือหน่วยงานของกระทรวงศึกษาธิการให้การสนับสนุนและอุดหนุนสินค้าต่างๆ ในขณะเดียวกันองค์การค้าฯ ก็ต้องรักษามาตรฐานในการผลิตด้วย
ที่มา กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 8 ตุลาคม 2558