ศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และคณะ รวม 31 ท่าน เข้าหารือกับพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันอังคารที่ 6 ตุลาคม 2558 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ เกี่ยวกับนโยบายการอุดมศึกษา รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยด้านการวิจัยเพื่อเข้าสู่ World Class University รวมทั้งหารือร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. .... และการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา ตลอดจนการจัดสรรงบประมาณเพื่อขอปรับเพิ่มเงินเดือนร้อยละ 4 ให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยที่จ้างโดยงบประมาณแผ่นดิน โดยมีนางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เข้าร่วมประชุมหารือในครั้งนี้
นางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้นำเสนอให้ที่ประชุมได้รับทราบเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการด้านการอุดมศึกษา ซึ่งมีจุดเน้น 3 ด้าน คือ 1) กำหนดบทบาทการผลิตผู้เรียน ให้มีความชัดเจนตามความถนัดและความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการผลิต 2) Outcome ที่สถาบันอุดมศึกษาควรมี เช่น การวิจัยพัฒนาจนเกิดเป็นนวัตกรรมที่จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชน 3) สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ควรทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ให้แก่โรงเรียนเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น
จากนั้น ทปอ.ได้นำเสนอขอรับการสนับสนุนใน 3 ประเด็น คือ
1) การพัฒนามหาวิทยาลัยด้านการวิจัยเพื่อก้าวสู่ World Class University ในช่วงปี 2552 รัฐบาลได้คัดเลือกมหาวิทยาลัยดีเด่นด้านการวิจัย 9 แห่ง เพื่อให้เป็นต้นแบบและผลิตบุคลากรตัวอย่างของนักวิจัย ซึ่งผลดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันใช้เงินไปกว่า 5,000 ล้านบาท ขณะนี้กำลังรับการประเมินในการก้าวสู่ World Class University
ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนโครงการ จึงขอรับการสนับสนุนเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงคือ 1) โครงการพัฒนาอุดมศึกษา เช่น ศูนย์ความเป็นเลิศระยะที่ 3 ทุนพัฒนาอาจารย์ ค่าใช้จ่ายต่อหัวบัณฑิต งบประมาณสนับสนุนโครงการ World Class University ต่อเนื่อง การสนับสนุนการจัดการศึกษาบัณฑิตศึกษาให้เข้มแข็ง ฯลฯ 2) การปลดล็อกการควบคุม เช่น การเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ IQA/EQA การรับทราบหลักสูตร รูปแบบหรือลิขสิทธิ์งานวิจัย ฯลฯ
2) ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา และการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา ทปอ.เห็นว่า ควรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. .... ให้รอบคอบและถี่ถ้วนเสียก่อนที่จะประกาศใช้ เพราะเกี่ยวข้องกับทุกมหาวิทยาลัยที่ต้องปฏิบัติตาม อาทิ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการอุดมศึกษา สภามหาวิทยาลัยกับอธิการบดีมีลักษณะลักลั่นกัน
ในส่วนของการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษานั้น ทปอ.เสนอว่าควรมี 2 แนวทางพิจารณา คือ การออกเป็นกระทรวงใหม่ หรืออาจไม่แยกเป็นกระทรวงใหม่ แต่ขอให้รัฐบาลให้อิสระในการบริหารจัดการแก่สถาบันอุดมศึกษาอย่างเต็มที่ โดย สกอ.มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนและกำกับเชิงนโยบายบางส่วน ไม่ใช่นโยบายทั้งหมด รวมทั้งนโยบายเชิงวิชาการด้วย
3) การขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับเงินเดือนร้อยละ 4 ให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยที่จ้างโดยงบประมาณแผ่นดิน เรื่องนี้ ทปอ.เห็นว่าในปีงบประมาณ 2558 มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งได้ใช้จ่ายไปแล้วจากเงินรายได้ของแต่ละมหาวิทยาลัย แต่เนื่องจากมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีบริบทและศักยภาพที่แตกต่างกัน หลายแห่งมีเงินรายได้ไม่เพียงพอที่จะจ่ายต่อเนื่อง ซึ่งปีงบประมาณ 2559 และ 2560 ก็ยังไม่มีความชัดเจนในการขอตั้งงบประมาณ จึงขอให้รัฐจัดสรรงบประมาณการเพิ่มอัตราเงินเดือนร้อยละ 4 ให้มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐในปีงบประมาณ 2558 และ 2559
นอกจากนี้ ไม่เห็นด้วยที่รัฐจะจัดสรรงบประมาณปี 2560 โดยใช้บัญชีใช้จ่ายเป็นรายบุคคล แต่ควรจัดสรรงบประมาณในลักษณะเงินอุดหนุน เนื่องจากขัดเจตนารมณ์ของความเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่ข้อมูลเงินเดือนของพนักงานถือเป็นความลับ
พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการรับฟังในส่วนของนโยบายการอุดมศึกษาร่วมกันนั้น เพื่อต้องการให้มีการวางแผนผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับตลาดแรงงานและการพัฒนาของประเทศ แต่ยังขาดจำนวนที่ชัดเจนในการผลิต จึงได้มอบให้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) ไปจัดทำรายละเอียดความต้องการพัฒนากำลังคนแต่ละสาขาให้ชัดเจน และจะมีการหารือร่วมกันในวันที่ 12 ตุลาคมนี้ ซึ่งจะทำให้กระทรวงศึกษาธิการได้ข้อมูลเพื่อนำไปวางแผนผลิตกำลังคนต่อไป
ในส่วนของการสนับสนุนมหาวิทยาลัยวิจัยนั้น จะรับข้อเสนอไปหารือกับนายกรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งได้ขอให้มหาวิทยาลัยทำแผนให้ชัดเจน เพื่อพิจารณาทั้งในส่วนของบุคลากร เครื่องมือ และงบประมาณสนับสนุน
สำหรับร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ซึ่ง สกอ.กำลังร่างอยู่นั้น ทปอ.เห็นว่าในบางมาตรามีการกำกับและควบคุมมหาวิทยาลัยมากจนเกินไป จึงจะเชิญมหาวิทยาลัยต่างๆ มาหารือร่วมกันในเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดเส้นแบ่งที่พอดีระหว่างความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัย และการกำกับดูแลของกระทรวง.
นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ความคืบหน้าในประเด็นต่างๆ นั้น กระทรวงศึกษาธิการจะนำไปพิจารณา และจะหารือกับ ทปอ.ในการประชุมครั้งต่อไป ในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ ที่จังหวัดพิษณุโลก.
ที่มา กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 6 ตุลาคม 2558