ผศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.)จะทำการประเมินคุณภาพภายนอกรอบที่สี่ (ปีงบประมาณ 2559- 2563) ในรูปแบบประเมินออนไลน์ ในต้นปี 2559 ว่าตนเป็นห่วงการประเมินคุณภาพแบบออนไลน์มาก เพราะจากการที่ตนและคณะได้ลงพื้นที่วิจัยเรื่อง "การศึกษาสภาพปัญหา ปัจจัยความสำเร็จ และแนวทางการขับเคลื่อนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 สู่การปฏิบัติ" พบข้อมูลความคิดเห็นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพจากกลุ่มตัวอย่าง เกี่ยวกับปัญหาของการประเมินคุณภาพภายนอกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่าไม่สามารถสะท้อนคุณภาพการศึกษาได้จริง เนื่องจากมุ่งตรวจเอกสาร ถ้าเอกสารไม่ครบสมบูรณ์ ก็ส่งเพิ่มเติมได้จนทำให้ผ่านการประเมิน
"การประเมินที่ผ่านมาได้ชื่อว่าเป็นมหกรรมสร้างภาพด้วยเอกสาร ดังนั้น การใช้วิธีประเมินแบบออนไลน์อาจไม่ใช่คำตอบที่จะสะท้อนถึงคุณภาพการศึกษาได้ เพราะสถานศึกษาทุกแห่งล้วนมีประสบการณ์ในการจัดทำเอกสารมาถึง 3 ครั้งแล้ว และการประเมินออนไลน์ ก็คือการนำเอกสารที่ พิมพ์แล้วจัดส่งข้อมูลทางออนไลน์เท่านั้น ซึ่งปัญหาการประเมินที่แท้จริงยังอยู่ คือ การทำข้อมูลเอกสารเพื่อประเมิน ที่ต้องอาศัยครูผู้สอนมาทำ ซึ่งจะทำให้ครูต้อง ทิ้งห้องเรียน รวมถึงเวลาส่วนตัว เพื่อมาสร้างคุณภาพจากบนกระดาษมาเป็นบนหน้าจอคอมพิวเตอร์แทน โดยลืมหัวใจที่แท้จริงของการประเมิน คือ ผลผลิตกับผลลัพธ์ ได้แก่ นักเรียน นิสิต หรือนักศึกษา นอกจากนี้การประเมินออนไลน์ จะก่อให้เกิดปัญหาสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร ที่อินเทอร์เน็ตยังค่อนข้างมีปัญหามาก เพราะระบบสัญญาณยังไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่" ผศ.ดร.พัทธนันท์ กล่าวและว่า ตนสนับสนุน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ ที่ต้องการให้ สมศ.กลับไปทบทวนประกาศการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่รูปแบบออนไลน์อีกครั้ง.
ที่มา เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 8 ต.ค. 2558 (กรอบบ่าย)