ศธ.จัดกลุ่มช่วยย้ำไม่ใช่กู้ยืมสร้างหนี้เพิ่ม-มอบสกสค.จัดสวัสดิการครู
จากปัญหาหนี้สินครู ซึ่งส่งผลถึงคุณภาพชีวิตครู และการจัดการเรียนการสอน ล่าสุดนักวิชาการได้เสนอให้มีการวิจัยครูที่เป็นหนี้โดยเจาะฐานข้อมูลเป็นรายบุคคล เพราะการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ต้องมีฐานข้อมูลที่เป็นจริง จึงจะแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีการทำวิจัยและได้ตัวเลขที่แน่นอน เนื่องจากเป็นข้อมูลที่ผู้ตอบไม่อยากตอบ ซึ่งข้อมูลที่อยู่ก็เป็นข้อมูลเพียงบางส่วนเท่านั้น
ล่าสุด พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นองค์กรใหญ่มีครู 3-4แสนคน การที่จะเจาะหนี้เป็นรายบุคคลนั้นคงยาก แต่ถ้าจะทำได้ก็คือต้องไปดูบัญชีเงินเดือนครูในสังกัด ศธ.เป็นรายบุคคลว่ามีการหักเงินเดือนชำระหนี้ในระบบทั้งในส่วนธนาคาร สหกรณ์ออมทรัพย์ครู รวมถึงอื่น ๆ และมีเงินเดือนเหลือเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเท่าไร โดยจัดเป็นกลุ่มๆ เช่น เหลือเพื่อใช้จ่าย 50% เหลือเพื่อใช้จ่าย 30% เป็นต้น จากนั้นจะโฟกัสเจาะลึกให้ความช่วยเหลือในกลุ่มที่มีเงินเดือนเหลือใช้จ่ายน้อยๆ ก่อน ส่วนจะช่วยเหลือในวิธีใดนั้นขอดูข้อมูลที่ชัดเจนก่อน แต่คงไม่ใช่การให้กู้ยืมเพื่อสร้างหนี้สินเพิ่ม ซึ่งตนจะให้ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ.ไปดำเนินการ ซึ่งระบบของทหารก็เริ่มจากการดูบัญชีเงินเดือน เพราะเราจะสามารถทราบได้ว่าหลังจากหักเงินเดือนจากการกู้เงินแล้วจะเหลือใช้จ่ายอยู่เท่าไร
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ในส่วนของกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษโครงการสวัสดิการโครงการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ที่มีการหักเงินกองทุนไปชำระหนี้แทนผู้ที่ค้างชำระเงินกู้นั้น ได้ให้สำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ทำหนังสือถึงธนาคารออมสิน เพื่อยุติการชำระหนี้แทนดังกล่าว และให้นำเงินกองทุนเงินสนับสนุนฯ มาส่งเสริมสวัสดิการทางด้านอื่นให้ครูแทน เช่น ค่าเล่าเรียนบุตร เป็นต้น
พร้อมกันนี้ยังมอบให้นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. ไปคิดหาวิธีการให้สวัสดิการทางด้านอื่นที่เป็นประโยชน์แก่ครู แทนการให้กู้ยืมเงิน และเร็วๆ นี้ได้นัดคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเดินหน้าต่อไปว่าจะต้องดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม ในส่วนขององค์การค้า ของ สกสค.ได้มอบให้นายธเนศพล ธนบุณยวัฒน์ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานของ รมว.ศึกษาธิการ ไปดูว่าจะทำอย่างไรถึงห้องค์การค้าของ สกสค.อยู่รอด ส่วนจะถึงขั้นปรับโครงสร้างหรือไม่ต้องดูรายละเอียดให้ชัดเจนก่อน
ที่มา สยามรัฐ วันที่ 5 ตุลาคม 2558