อดีตเลขาฯอาเซียนย้ำวิชาชีพครูและการศึกษาเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยหลอมรวมประชาคมอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียวและแข่งขันกับนานาประเทศได้บนเวทีโลก ชี้ระบบการศึกษาในอาเซียนยังอยู่ในกรอบเดิม ยันต้องเน้นพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างโอกาสแข่งขัน ครูที่ดีจึงต้องสอนทักษะมากกว่าท่องจำ
ในเวทีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม จัดโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียนได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “การศึกษาเพื่อเป็นเครื่องมือหลอมรวมประชาคมอาเซียนให้เป็นหนึ่งเดียว”ว่า การศึกษาจะเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งที่จะทำให้เยาวชนอาเซียนเคารพในความแตกต่างทั้งทางด้าน เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ทำให้ประชาคมอาเซียนมีความเป็นหนึ่งเดียว และเป็นประชากรที่มีคุณภาพร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคบนเวทีโลกต่อไปในอนาคต
“การศึกษาเท่านั้นที่จะทำให้ประชากรของแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนเคารพซึ่งกันและกันและสร้างประชากรที่มีความรู้ความสามารถ รวมทั้งสร้างความฝันที่ต้องการให้ประชาคมอาเซียนเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งในภูมิภาคอาเซียนและประเทศติมอร์-เลสเต มีประชากรรวมกันมากกว่า 600 ล้านคน หรือไม่ถึง 4% ของประชากรโลกทั้งหมด มีความแตกต่างทั้งทางสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการศึกษา แต่ประชาคมอาเซียนมีสัญลักษณ์แห่งการอยู่ร่วมกันของความแตกต่าง โดยมีภารกิจร่วมกันที่จำเป็นต้องลงทุนด้านงานวิจัยและพัฒนา รวมทั้งนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและอำนาจต่อรองทางการค้าและการลงทุนกับนานาประเทศซึ่งเยาวชนคนรุ่นใหม่จะไม่สามารถส่งต่อภารกิจเหล่านี้ได้หากไม่เข้าใจหลักการและเหตุผลเหล่านี้”
ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า งานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือเป็นสาขาที่ประเทศอาเซียนต้องการอย่างยิ่งในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน หากไม่นับสิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน ประเทศสมาชิกภูมิภาคอาเซียนส่วนใหญ่ยังอยู่ในประเทศรายได้ปานกลางถึงรายได้น้อย งานวิจัยระดับนานาชาติหลายสำนักทั้งธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย ธนาคารโลก และเวทีผู้นำเศรษฐกิจระดับนานาชาติก็ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ภูมิอาเซียนจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากและไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ ซึ่งปัจจุบันประเทศสมาชิกลงทุนด้านเทคโนโลยีไม่ถึง 2%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศหรือจีดีพี ซึ่งเป็นการตัวเลขการลงทุนโดยเฉลี่ยของนานาประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อยู่ทื่ 2.2% ของจีดีพี
นายสุรินทร์ กล่าวว่า ระบบการศึกษาในภูมิภาคยังอยู่ในกรอบรูปแบบเดิมๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่จำเป็นต้องพัฒนานวัตกรรมการศึกษาทำให้แข่งขันประเทศอื่นได้ด้วย ซึ่งครูในฐานะนักการศึกษาคือตัวแปรสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม ประเทศ และประชาคมอาเซียน เพราะครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติ เราไม่สามารถมีความรู้และสติปัญญาที่เฉียบแหลมได้เลย หากไม่มีครูที่เป็นเหมือนพ่อแม่คนที่ 2 ของนักเรียน หากเพียงแค่จะสอนให้เด็กจดจำ เด็กก็คงไม่จำเป็นต้องใช้คุณครูมาสอน เพราะเขามีเครื่องมือมากมายมาช่วยให้จดจำ ครูที่ดีจะสอนให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์ แยกแยะ โดยครูจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กได้ฝึกฝนให้รู้จักคิดและค้นหาคำตอบด้วยตนเอง
นายสุรินทร์ กล่าวว่าในเวทีประชุมสหประชาชาติว่าด้วยแนวทางหลังการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ 2030 ภูมิภาคอาเซียนก็มีศักยภาพที่จะช่วยคิด และทำให้ประชาคมโลกมีความมั่นคงต่อไป “เราต้องกล้าที่จะฝันและ เราต้องเอาใจใส่ที่จะร่วมแบ่งปัน เพราะไม่มีใครอยู่ได้โดยลำพัง ” นายสุรินทร์กล่าว
ที่มา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) วันที่ 5 ตุลาคม 2558