ปัญหาหนี้สินของบุคลากรทางการศึกษา หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "หนี้ครู" นับเป็นปัญหาโลกแตกที่ทุกรัฐบาลได้พยายามแก้ไขมาโดยตลอด จนเวลาล่วงเลยกว่าทศวรรษ มูลค่าหนี้สินของครูกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่มีวันลดลง สวนทางกับอายุงานที่มีแต่จะถอยลง เป็นไปได้ว่าปัญหาเหล่านี้อาจส่งผลกระทบกับคุณภาพการศึกษาของไทย แล้วเคยตั้งคำถามกันหรือไม่ว่า เหตุใดครูจึงมีหนี้สินมากมายจนกลายเป็นปัญหาที่ยากเกินจะจินตนาการออก ว่า จะจบลงอย่างไร...!?!? ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ อาสาพาไปไขคำตอบของเรื่องนี้
ดินพอกหางหมู! ปัญหาหนี้ครูกว่าทศวรรษ
"กู้ ช.พ.ค. 3 ล้าน ส่งเดือนละ 32,300 บาท ระยะเวลา 360 เดือน เป็นเงิน 8,352,000 บาท ลบเงินต้นไป 3 ล้าน ครูต้องจ่ายดอกเบี้ย 5,352,000 บาท ให้ตายก็จ่ายไม่หมด..." หนึ่งในประโยคบอกเล่าของ ครูสุวัช ศรีสด อายุ 57 ปี ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านนาจะลา อำเภอเสิงงาม จังหวัดลำปาง ที่เล่าให้ทีมข่าวฟังถึงภาระหนี้สินที่ต้องแบกรับ นอกจากนั้นครูสุวัชยังเป็นตัวแทนครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ประสบปัญหาหนี้สินขั้นวิกฤติ พร้อมครูประมาณ 50 คน เข้าพบ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อยื่นแถลงการณ์และข้อเสนอแนะการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูที่วิกฤติเร่งด่วน เพื่อส่งต่อถึงนายกรัฐมนตรีในการช่วยเหลือ โดยอยากให้ชะลอการชำระหนี้หรือพักชำระหนี้แบบเกษตรกร และขอให้มีการตั้งคณะทำงานที่มีอำนาจเด็ดขาดขึ้นมาแก้ไขปัญหาหนี้สินครู เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเพื่อให้ครูมีขวัญกำลังใจในการทำหน้าที่
ครูสุวัชเปิดเผยถึงสาเหตุของการเกิดหนี้สินให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า เมื่อ 35 ปีที่แล้ว ได้เงินเดือนแค่ 1 พันกว่าบาท บ้านเดิมอยู่ที่นครสววรค์ มาบรรจุเป็นครูอยู่ที่ลำปางเมื่อปี พ.ศ.2523 ยอมรับเลยว่า เริ่มแรกผมมาอยู่ก็มีแต่ตัว พอเริ่มมีครอบครัวผมก็ต้องกู้สหกรณ์ ต่อมาสร้างบ้านผมก็ต้องกู้อีก พอมีลูกก็ต้องส่งลูกเรียนหนังสือ บางส่วนอยากลงทุนให้มันงอกเงย จึงไปซื้อวัวมาเลี้ยง ปรากฏว่าขาดทุน ลงทุนปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง 20-30 ไร่ก็ขาดทุน เมื่อก่อนได้เข้ากลุ่มพัฒนาชีวิตครู จึงใช้เวลาว่างเสาร์อาทิตย์ เพื่อที่จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นมา เพราะการรอแต่เงินเดือนรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ ปัจจุบันพอเงินเดือนครูเพิ่ม ก็ถือว่าช่วยได้แต่ก็ช่วยไม่ได้ทั้งหมด เมื่อเงินเดือนไม่พอก็ต้องไปเอาบัตรเครดิต บัตรเครดิตไม่ได้ก็ต้องไปเอานอกระบบ กลายเป็นดินพอกหางหมู
ปัจจุบันพบว่าแหล่งเงินกู้ที่สำคัญของครูทั่วประเทศมาจากหลายแหล่ง อาทิ สหกรณ์ออมทรัพย์, สินเชื่อโครงการกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาฯ, สินเชื่อโครงการพัฒนาชีวิตครูฯ ผ่านธนาคารออมสิน, โครงการเงินกู้ ช.พ.ค.ต่างๆ, กู้ยืมหนี้นอกระบบ, และแหล่งที่สามารถก่อหนี้ได้ง่ายที่สุดอย่างบัตรเครดิต
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบัน มีครูทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการเงินกู้กว่า 4.6 แสนราย คิดเป็นร้อยละ 66.6% จากจำนวนครูทั้งหมด 6.9 แสนราย รวมวงเงินกู้กว่า 4 แสนล้านบาท แต่มีหนี้เสียอยู่ 5 พันล้านบาทเศษ โดยเฉลี่ยจากข้อมูลดังกล่าว ครูจะมีหนี้สินตกอยู่ในมือถึงคนละ 8.6 แสนบาท ในขณะที่อัตราเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบเงินเดือนเงินวิทยฐานะและเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 3) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2558
ครูผู้ช่วย ขั้นต่ำอยู่ที่ 15,050 บาท ขั้นสูงที่ 24,750 บาท
ครู ค.ศ.1 ขั้นต่ำอยู่ที่ 15,440 บาท ขั้นสูงที่ 34,310 บาท
ครู ค.ศ.2 ขั้นต่ำอยู่ที่ 19,860 บาท ขั้นสูงที่ 58,390 บาท
ครู ค.ศ.3 ขั้นต่ำอยู่ที่ 19,860 บาท ขั้นสูงที่ 58,390 บาท
ครู ค.ศ.4 ขั้นต่ำอยู่ที่ 24,400 บาท ขั้นสูงที่ 69,040 บาท
ครู ค.ศ.5 ขั้นต่ำอยู่ที่ 29,680 บาท ขั้นสูงที่ 76,800 บาท
ทั้งนี้ อัตราเงินเดือนขั้นต่ำและขั้นสูงของแต่ละตำแหน่ง จะขึ้นอยู่กับวุฒิการศึกษาและการประเมินค่างาน เช่น บรรจุครูด้วยวุฒิปริญญาตรี จะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำในตำแหน่งครูผู้ช่วย และจะได้รับการประเมินค่างาน โดยอัตราเงินเดือนจะมีการเพิ่มตามความสมควร แต่ไม่เกินขั้นสูงในตำแหน่งครูผู้ช่วย แต่หากบรรจุครูด้วยวุฒิปริญญาเอก จะได้รับเงินเดือนมากกว่าเงินเดือนขั้นต่ำในตำแหน่งครูผู้ช่วย และจะได้รับการประเมินค่างาน โดยอัตราเงินเดือนจะมีการเพิ่มตามความสมควร แต่ไม่เกินขั้นสูงของตำแหน่งครูผู้ช่วยที่กำหนดไว้เช่นกัน
จบเยอะ รับน้อย ครูตกงานอื้อซ่า...!?!?
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ ทิวัตถ์ มณีโชติ อาจารย์ประจำวิทยาลัยการฝึกหัดครู และกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ในฐานะที่เป็นสถาบันพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาชั้นนำ ได้กล่าวถึงสถานการณ์การศึกษาของวิทยาลัยฝึกหัดครูว่า
"การเรียนครูได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากเราประกาศรับสมัครสาขาละ 30 คน ผู้สมัครต้องมีเกรดเฉลี่ยสะสม 2.50 ขึ้นไป ก็จะมีนักศึกษามาสมัครกว่าร้อยคนในแต่ละสาขา แต่เรามีพื้นฐานที่คุรุสภาจำกัดไว้ว่า จำนวนนักศึกษาต่อ 1 ห้อง ต้องไม่เกิน 30 คน หากจะมีการเปิดรับเพิ่มเป็น 2 หรือ 3 เท่า ต้องขออนุญาตทางคุรุสภาเป็นรายสาขาไป โดยมีเงื่อนไข 2 ส่วน คือ 1. ศักยภาพความพร้อมของอาจารย์ ทั้งเวลาสอนและการออกไปนิเทศก์เมื่อนักศึกษาออกไปฝึกปฏิบัติงาน 2. การมีผลผลิตที่ผ่านมาเป็นที่น่าพอใจ ส่วนเหตุผลที่วิชาชีพครูมีคนสนใจเรียนมากขึ้น เนื่องมาจากเงินเดือนข้าราชการครูมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ และมีความเป็นข้าราชการที่จำกัด หมายถึง ครู ตำรวจ ทหาร จะเรียกว่าข้าราชการ ส่วนอย่างอื่น เช่น ครูมหาวิทยาลัย จะไม่เรียกว่าข้าราชการ จึงทำให้มีการแข่งขันสูง แต่เดิมเรามี 19 สาขา ปัจจุบันยุบเหลือ 15 สาขา สาขาที่ได้รับความนิยมคือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คือ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ และประถมวัย ซึ่งสามารถสมัครงานได้หลากหลายที่ นอกจากนั้นก็จะเป็นสาขานาฏศิลป์ ดนตรี คอมพิวเตอร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษทั่วไป ส่วนสาขาที่ยุบไปไม่ได้เป็นเพราะเด็กไม่ต้องการเรียน แต่เป็นสาขาที่กรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ไม่เปิดรับ เพราะถือว่าเป็นสาขาเสริม เช่น สาขาทางด้านการวัดและประเมินผล สาขาเทคโนโลยี เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วทุกสถาบันการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นครุศาสตร์และศึกษาศาสตร์ ทั้งของรัฐและเอกชนก็เร่งผลิตครู พอนักศึกษาจบมาเยอะ แต่อัตราการรับเข้าบรรจุครูมีน้อย ทำให้อาชีพครูตกงานค่อนข้างเยอะ" รศ.ดร.ทิวัตถ์ กล่าว
ส่วนใหญ่นักศึกษาที่จบจากวิทยาลัยครูราชภัฏพระนครจะมีเกรดเฉลี่ยเมื่อสำเร็จการศึกษาอยู่ที่ 3.00 ขึ้นไป 30% ของนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจะมีอาชีพ แต่ประกอบวิชาชีพครูประมาณ 8-10% ส่วนที่ไม่ได้ประกอบวิชาชีพครู ส่วนใหญ่จะไปเป็นนักวิชาการ และอาจารย์โรงเรียนเอกชน บางส่วนผันตัวเองไปทำอาชีพอื่นแล้วแต่โอกาส และบางส่วนก็ไปสอบข้าราชการ ก.พ. เป็นการคัดเลือกบุคคลในระดับวุฒิการศึกษา และสาขาวิชาชีพที่แตกต่าง เพื่อเข้ามาทำงานให้กับหน่วยงานราชการ
ผลิตวิชาชีพเฉพาะ คาดมีงานในอนาคต
ในขณะเดียวกันทางมหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ ได้มีการผลิตคณะใหม่ที่เป็นวิชาชีพเฉพาะ รศ.ดร.ทิวัตถ์ ได้ให้เหตุผลกับทีมข่าวฯ ว่า ทางมหาวิทยาลัยได้มีการสำรวจความต้องการของสังคม ว่าอาชีพอะไรมีแนวโน้มที่จะได้งานมากขึ้น มีความต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายสู่อาเซียน มีสาขาไหนสามารถที่จะทำให้นักศึกษาต่างประเทศมาเรียน หรือนักศึกษาของเราไปเรียนต่างประเทศได้ มหาวิทยาลัยจึงจะพยายามเปิดสาขาที่เอื้อต่อการใช้งานหรือประกอบอาชีพในอนาคต แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อวิทยาลัยครูเดิม
สอดแทรกจรรยาบรรณครูระหว่างเรียน หวั่นทำงานจริงไม่รอดเป็นหนี้
รศ.ดร.ทิวัตถ์ กล่าวต่ออีกว่า ทางมหาวิทยาลัยได้มีการสอดแทรกเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพครูเข้าไปในวิชาเรียน แต่เมื่อครูไปปฏิบัติหน้าที่จริง ก็จะมีเรื่องของสังคมรอบข้างเข้ามาเกี่ยวข้อง การที่เห็นคนอื่นมีตนเองก็อยากมี จึงกลายเป็นค่านิยมที่บริโภควัถตุเป็นหลัก ครูที่เคยอยู่ในจรรยาบรรณตั้งมั่นว่าต้องอยู่อย่างพอเพียง ก็เริ่มหายไปอย่างที่เห็นกันอยู่ในสังคมครูปัจจุบัน ทั้งนี้ อาชีพราชการ ไม่ว่าจะเป็นครู ทหาร หรือตำรวจ ถือว่ามีเงินเดือนประจำชัดเจน และมีระเบียบของผู้ปฏิบัติงานทางราชการ ฉะนั้นช่องทางการกู้เงินที่ยื่นให้คนที่เป็นราชการหรือคนที่มีเงินเดือนประจำจึงเปิดกว้าง
"การเป็นหนี้ของครูอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา เพราะครูที่เป็นหนี้ต้องขวนขวายหาส่วนอื่นมาชดเชยส่วนที่ขาด จะเห็นได้ว่าครูบางคนมีหน้าที่มากกว่า 1 อย่าง เช่น งานธุรการ งานพัสดุ งานการเงิน งานวิชาการ งานวัดประเมินผล รวมไปถึงการไปสอนพิเศษ หรือทำงานในส่วนอื่นนอกเหนือจากการเป็นครู ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การเตรียมการสอนหรือการมุ่งมั่นที่จะสอนในเวลาเรียนลดน้อยลง'' อาจารย์ประจำวิทยาลัยการฝึกหัดครู ระบุ
ขยายเวลามาตรการช่วยเหลือครู ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ไม่เพิ่มหนี้
นางทิพพาศรี อินทะกูล ผู้อำนวยการภารกิจกองทุนและสวัสดิการทางการศึกษา (ภท.) เปิดเผยว่าปัจจุบันได้มีครูเข้าร้องเรียนเรื่องปัญหาหนี้สินเป็นจำนวนมาก และยอมรับว่าปัญหาหนี้สินครูในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่จะต้องค่อยๆ แก้ปัญหาไป ซึ่งทางภาครัฐก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการร่วมกับธนาคารออมสินออก 4 มาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศที่เป็นหนี้กับธนาคารออมสิน และได้ขยายเวลาเพิ่มจนถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2558 เพื่อเป็นการช่วยเหลือบุคลากรครู โดยมีการแบ่งลูกหนี้ออกเป็น 4 กลุ่ม
1. กลุ่มลูกหนี้วิกฤติรุนแรง หมายถึง ลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างการถูกฟ้อง ถูกดำเนินคดี หรือถูกบังคับคดี ลูกหนี้ขาดความสามารถในการชำระหนี้จากสาเหตุที่จำเป็น และมีรายการทรัพย์สินน้อยกว่าหนี้สิน โดยมีมาตรการช่วยเหลือ คือ ชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดีหรือการบังคับคดีไม่เกิน 3 ปี ทั้งนี้ ต้องมีระยะเวลาฟ้องคดีเหลือไม่น้อยกว่า 2 ปี พักชำระดอกเบี้ยไม่เกิน 3 ปี แต่ให้ชำระหนี้เงินต้น และเมื่อครบ 3 ปี ให้นำดอกเบี้ยที่พักไว้เฉลี่ยจ่ายคืนรวมกับเงินงวดต่อไป โดยมีหมายเหตุต้องแสดงบันทึกรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ตามแบบที่กำหนด
2. กลุ่มลูกหนี้ใกล้วิกฤติ หมายถึง ลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระเกินกว่า 12 งวดติดต่อกันก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2558 โดยมีมาตรการช่วยเหลือ คือ พักชำระดอกเบี้ยไม่เกินครึ่งหนึ่ง เป็นเวลาไม่เกิน 2 ปี แต่ให้ชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ยส่วนที่เหลือ เมื่อครบ 2 ปี ให้นำดอกเบี้ยที่พักไว้เฉลี่ยจ่ายคืนรวมกับเงินงวดต่อไป โดยมีหมายเหตุต้องแสดงบันทึกรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ตามแบบที่กำหนด
3. ลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 12 งวด ติดต่อกัน โดยลูกหนี้ต้องปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามมาตรการของธนาคาร
4. ลูกหนี้ปกติ หมายถึง ลูกหนี้ที่ยังไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้และสามารถบริหารจัดการหนี้ได้ โดยมีมาตรการช่วยเหลือ คือ พักชำระเงินต้นไม่เกิน 2 ปี แต่ให้ชำระดอกเบี้ย
"หนี้สินครู" ถือเป็นอีก 1 ปัญหาจากหลายๆ ส่วน ที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของเด็กไทย หลังจากนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะเดินหน้าเจาะลึกถึงปัญหาของระบบการศึกษาไทยให้ลึกถึงแก่นต่อไป...
ที่มาจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 5 ตุลาคม 2558