มหาดไทยทำรายงานค้านกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน นั่งเก้าอี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยตำแหน่ง ยันไม่เป็นผลดีต่อการบริหาร-ขัดหลักกระจายอำนาจ อาจเกิดความขัดแย้งได้ ไม่เอาประเมินผลทุกปี เหตุเป็นภาระนายอำเภอ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงมหาดไทยจัดทำรายงานพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การปกครองท้องถิ่น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เกี่ยวกับปัญหาและข้อเสนอแนะกรณีให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบลโดยตำแหน่ง
รายงานดังกล่าว ระบุว่า เดิมทีอำนาจหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล มีความซ้ำซ้อนกัน แต่ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2551 ได้ปรับปรุงให้อำนาจหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้มีความชัดเจนมิให้ซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ของ อบต. และเทศบาล คือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำหน้าที่ช่วยเหลือนายอำเภอในการปฏิบัติหน้าที่ และเป็นหัวหน้าราษฎรในหมู่บ้านของตน และมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน และความอาญาในหมู่บ้าน ตำบล อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายอำเภอ ซึ่งถือว่าอยู่ในระบบราชการส่วนภูมิภาค ส่วน อบต. และเทศบาล มีอำนาจหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะแก่ประชาชนในพื้นที่ตามที่กฎหมายกำหนด อยู่ในระบบราชการส่วนท้องถิ่น
ดังนั้น เมื่อมีการแบ่งอำนาจหน้าที่กันชัดเจนแล้ว จึงไม่ควรกำหนดให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าไปเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นโดยตำแหน่ง ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการบริหารราชการแผ่นดินในระยะยาว และขัดต่อหลักการกระจายอำนาจ รวมทั้งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างท้องที่กับท้องถิ่นได้ จึงควรให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาแนวทางในการส่งเสริมบทบาทของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และกำหนดมาตรการในการตรวจสอบการทำงานของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไปพร้อมกัน
สำหรับข้อเสนอให้มีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านปีละครั้ง จากเดิมที่ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 14 (11) ได้กำหนดถึงเหตุที่ผู้ใหญ่บ้านต้องพ้นจากตำแหน่งไว้ว่า “ไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งต้องทำอย่างน้อยทุกห้าปีนับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง…” นั้น เห็นว่า หากมีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ใหญ่บ้านปีละครั้งจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับอำเภอมากขึ้น ประกอบกับ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ฯ ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านอย่างน้อยทุกห้าปีจึงมีความเหมาะสมแล้ว
ขณะที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า การที่ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นราชการส่วนภูมิภาคมารับตำแหน่งสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบล ซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่นนั้น อาจทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในการปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในหลักการความมีอิสระในการดำเนินงาน ภายใต้กำกับดูแลของราชการส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค และปัจจุบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สามารถเสนอความต้องการของประชาชนในพื้นที่ผ่านผู้บริหารท้องถิ่นได้อยู่แล้ว หากไม่ดำเนินการก็สามารถรายงานนายอำเภอ ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้
ดังนั้น การกำหนดให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบลโดยตำแหน่งยังขัดแย้งกับหลักการปกครองส่วนท้องถิ่นที่กำหนดให้ผู้บริการ หรือสมาชิกสภา ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนระหว่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบลมากกว่าที่จะกำหนดให้เป็นสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบลโดยตำแหน่ง โดยให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตรวจสอบการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแทนนายอำเภอ ให้ปฏิบัติหน้าที่อำนวยความเป็นธรรม การดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และป้องกันอาชญากรรมอันเป็นบทบาทที่แท้จริงของ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฐานะผู้ช่วยเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองอย่างจริงจัง ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว อันจะทำให้ประชาชน ได้รับทั้งบริการสาธารณะตามความต้องการ พร้อมกับความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินควบคู่กันไป
ที่มา สำนักข่าวอิศรา วันที่ 5 ตุลาคม 2558