สมเด็จพระเทพฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี แก่สุดยอดครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตศิษย์และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา 11 ประเทศในอาเซียนและติมอร์-เลสเต
โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 1 ปี 2558 และเปิดการประชุมสภาครูอาเซียน ครั้งที่ 31 เมื่อวันศุกร์ที่ 2 ตุลาคม 2558 โดยมีพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายกฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี นายแพทย์กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการอีก 10 ประเทศ เอกอัครราชทูต ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ตลอดจนครูผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และครูในประเทศสมาชิกสภาครูอาเซียน ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ
นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ กราบบังคมทูลรายงานการจัดงาน ดังนี้
"ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานพระราชวโรกาส กราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองพระบาทเกี่ยวกับการดำเนินงานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ซึ่งเป็นพระราชดำริของฝ่าละอองพระบาทที่มีพระราชหฤทัยแน่วแน่ที่จะยกย่องครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณูปการต่อวงการศึกษาในระดับนานาชาติ รวมทั้งส่งเสริมคุณค่าของวิชาชีพครูในฐานะวิชาชีพชั้นสูงให้เป็นที่ปรากฏชัดอย่างกว้างขวาง
มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน รวมทั้งประเทศสมาชิกของอาเซียนและสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์เลสเต ในการร่วมคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ซึ่งได้มาร่วมพิธีรับพระราชทานรางวัลในวันนี้ทั้ง 11 คนด้วย โดยมีสมาชิกสภาครูอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ รวมทั้งครูที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลคุณากร “ครูยิ่งคุณและครูขวัญศิษย์” ได้มาชุมนุมกัน ณ ที่นี้ เพื่อร่วมเป็นเกียรติและประชุมสภาครูอาเซียน ครั้งที่ 31 ด้วย รวมทั้งสิ้น 600 คน
ข้าพระพุทธเจ้าขอเบิก นายกฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลรายงาน การคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และเบิกครูทั้ง 11 ประเทศเข้ารับพระราชทานรางวัล ขอพระราชทานพระราชดำรัสเพื่อเป็นสิริมงคลสูงสุดแก่ครูผู้รับพระราชทานรางวัล และทรงเปิดการประชุมสภาครูอาเซียน ครั้งที่ 31
หลังจากนั้น ขอเบิกนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ Education as an Integration Tool for ASEAN Community ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม"
นายกฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวคำกราบบังคมทูลรายงาน สรุปเกี่ยวกับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และการคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ดังนี้
"ในวโรกาสที่ใต้ฝ่าละอองพระบาททรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา ในปี 2558 สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับผู้ปฏิบัติงานด้านการศึกษา เห็นสมควรเฉลิมพระเกียรติใต้ฝ่าละอองพระบาท ที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนในระดับต่างๆ มาโดยตลอด โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาสในท้องถิ่นห่างไกลกันดารทั่วประเทศ
จึงขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดตั้ง “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เป็นรางวัลระดับนานาชาติ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติใต้ฝ่าละอองพระบาท ทรงมีพระราชานุญาตให้จัดทำรางวัลพระราชทาน “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” จัดตั้งมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เพื่อดำเนินการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีพระราชทานแก่ครูผู้ทุ่มเทปฏิบัติงานและมีผลงานดีเด่นในกลุ่มประเทศอาเซียนและสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์เลสเต ประเทศละ 1 รางวัล
เกณฑ์พื้นฐานของการคัดเลือกครูเข้ารับพระราชทานรางวัล คือ ครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตลูกศิษย์ โดยสังคมให้การยอมรับและยกย่องร่วมกันว่า เป็นครูผู้เสียสละทุ่มเทให้แก่การทำงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ชีวิตลูกศิษย์ของตน และส่งผลเป็นแรงบันดาลใจแด่เพื่อนครูโดยรวม เนื่องจากทั้ง 11 ประเทศมีความหลากหลายแตกต่างกันทางปริบทสังคม เศรษฐกิจ จนถึงจุดเน้นของการจัดการศึกษา
ดังนั้น มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้ให้แต่ละประเทศกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกในรายละเอียดและกลไกในการดำเนินการคัดเลือก โดยยึดหลักการพื้นฐานที่ได้กราบบังคมทูลมาแล้ว ในการประสานงานการคัดเลือกมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ได้ประสานงานและได้รับความสนับสนุนอย่างดียิ่งจากกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการต่างประเทศของทั้ง 11 ประเทศ ในการประชุมมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 ที่ใต้ฝ่าละอองพระบาททรงเป็นประธานการประชุมได้อนุมัติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีแก่ครู 11 ท่าน ที่ได้รับการเสนอชื่อ
ในโอกาสนี้ ข้าพระพุทธเจ้า ขอพระราชทานพระราชานุญาตเบิกครู 11 ท่าน เข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ตามลำดับอักษรประเทศ โดยมีสรุปผลงานดีเด่นประกอบ และขอพระราชทานพระราชานุญาตกราบบังคมทูลใต้ฝ่าละอองพระบาทพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีแก่ครูตามลำดับ ดังนี้
1) บรูไนดารุสซาลาม ได้แก่ มาดาม ฮาจา รัตนาวาติ บินติ ฮาจิ โมฮัมมัด ครูการศึกษาพิเศษโรงเรียนประถมศึกษา Keriam ผู้ริเริ่มการนำนวัตกรรมมาสอนเด็กพิการเรียนร่วมในรูปแบบต่างๆ โดยชักชวนผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมจนได้รับรางวัลครูดีเลิศจากสุลต่านแห่งบรูไน
2) ราชอาณาจักรกัมพูชา ได้แก่ นางสาวทอช บันดาว ครูสอนภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษาใน Wat-Bo Primary School ครูที่เน้นการสอนโดยใช้นักเรียนเป็นศูนย์กลางผ่านเทคนิคสร้างแรงจูงใจให้ผู้เรียน และให้ความสำคัญกับเด็กเรียนรู้ช้าโดยการสร้างเครื่องมือช่วยสอนเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการเรียนรู้จนได้รับรางวัลชนะเลิศครูที่มีความโดดเด่นในระดับชาติ
3) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้แก่ นายเฮอร์วิน ฮามิด ครูสอนวิทยาศาสตร์และหัวหน้าห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ โรงเรียน Junior High School Kendari ผู้มีผลงานโดดเด่นในการประยุกต์ใช้ Smart Phone เพื่อการศึกษา และพัฒนาสื่อการเรียนการสอนวิชาฟิสิกส์ จนได้รับรางวัลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับภูมิภาคของประเทศ
4) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้แก่ นางวงสัมพัน คำส้อย ครูสอนวิชาภาษาฝรั่งเศส ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และรัฐศาสตร์ โรงเรียนมัธยมเวียงจันทน์ เน้นการพัฒนานักเรียนที่มีผลการเรียนต่ำให้มีการพัฒนาตนเอง มีทักษะและมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการปรับปรุงนักเรียน
5) มาเลเซีย ได้แก่ นายไซนุดดิน ซาคาเรีย ครูสอนเทคโนโลยีสารสนเทศ โรงเรียนมัธยม Taman Bukit Maluri ผู้พัฒนาหลักสูตร ICT ของกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นครูผู้สอนการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อเทคโนโลยีและการสื่อสารในระดับชาติ
6) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ได้แก่ นางสาวยี มอน ซอร์ ครูระดับอาวุโส โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนหล่าย ทาร์ ยา ย่างกุ้ง สอนทั้งวิชาการและการประกอบอาชีพให้แก่ลูกศิษย์ จนมีความโดดเด่นได้รับการยอมรับอย่างมากจากเพื่อนครูและคนในชุมชน
7) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ได้แก่ นายวิลเลียม โมราคา ครูใหญ่ Klolang Elementary School นักจัดการชั้นเรียนสมัยใหม่ให้แก่โรงเรียนชั้นประถมศึกษา และเป็นนักพัฒนานวัตกรรมผลิตสื่อการสอนต้นทุนต่ำให้แก่โรงเรียนที่อยู่พื้นที่ห่างไกลมาอย่างต่อเนื่อง
8) สาธารณรัฐสิงคโปร์ ได้แก่ นางหวัง ลิม ไอ่ เหลียน ครูใหญ่โรงเรียนประถม Holy Innocents’ Primary School ผู้สอนวิชาภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ ผู้เน้นการสอนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษโดยเฉพาะกลุ่มเรียนรู้ช้า ผู้ริเริ่มโครงการนำร่องด้วยการใช้ดนตรีบำบัดเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ของผู้เรียน วิจัยและพัฒนาหลักสูตรเฉพาะสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ
9) ประเทศไทย ได้แก่ นายเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ ครูเชี่ยวชาญกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนสุราษฎร์พิทยา อ.เมืองฯ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบการเรียนรู้ ที่เน้นให้ผู้เรียนเกิดทักษะการคิดวิเคราะห์ และเรียนรู้ผ่านการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ที่สร้างประโยชน์คืนกลับชุมชน โดยโครงงานที่สร้างชื่อเสียงจนนักเรียนได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ เช่น การทำไบโอพลาสติกจากเกล็ดปลา ผลงานที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกรู้จักประเทศไทย จนมีการนำชื่อของนักเรียนโรงเรียนสุราษฎร์พิทยาจำนวน 3 คน ไปตั้งชื่อดาวเคราะห์น้อย 3 ดวงที่พบใหม่ในระบบสุริยะจักรวาล
10) ติมอร์-เลสเต ได้แก่ นายจูลีโอ ไซเมน มาเดียรา ครูสอนในโรงเรียนระดับประถมและมัธยม ผู้ที่สามารถสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้แก่เด็กๆ ในชุมชน และสามารถดึงพลังการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นเข้าร่วมจัดการเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี
11) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้แก่ นางทราน ติ ตวย ดุง ครูใหญ่และครูสอนวิชาภาษาอังกฤษระดับประถมศึกษา ที่ Le Ngoc Han Primary School ผู้ริเริ่มทำให้เกิดต้นแบบโรงเรียนประถมศึกษารูปแบบใหม่ หรือ “เวียดนามนิวสคูลโมเดล” เผยแพร่ไปยังโรงเรียนประถมศึกษามากกว่า 3,000 แห่ง ผ่านระบบการจัดการที่มีความยืดหยุ่น เน้นทักษะชีวิต สร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ในชั้นเรียน และจัดชั้นเรียนแบบมีปฏิสัมพันธ์ ทำให้เกิดรูปแบบการเรียนการสอนที่ทันสมัย
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม"
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำรัสในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีฯ โดยมีใจความดังนี้
"ข้าพเจ้ามีความยินดี ที่ได้มาทำพิธีมอบรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี และเปิดการประชุมสภาครูอาเซียน ครั้งที่ 31 ในโอกาสวันครูโลก ในวันนี้ ขอแสดงความยินดีต่อครูทุกๆ ท่านที่ได้รับเลือกให้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 1 ปี 2558 ซึ่งเป็นปีแรกที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่า เป็นครูผู้อุทิศตน และมีความโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เพื่อนครู และได้สร้างคุณูปการต่อการศึกษาด้วยความทุ่มเท เสียสละ โดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย เพื่อประโยชน์สุขของลูกศิษย์เป็นสำคัญ ขอขอบใจคณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้องทุกคนทุกฝ่าย ที่ได้ร่วมกันทำงานคัดเลือกครูผู้สมควรได้รับรางวัลนี้ ในครั้งนี้
เป็นที่ยอมรับทั่วกันว่า การศึกษาเป็นรากฐานและเครื่องมือที่สำคัญในการพัฒนาคนและพัฒนาคุณภาพของประเทศให้เจริญก้าวหน้ามั่นคง ครูจึงมีบทบาทและเป็นปัจจัยที่สำคัญในการจัดการศึกษาของชาติ ต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ทุ่มเท และเสียสละ พากเพียร อบรมสั่งสอน ดูแลลูกศิษย์ด้วยความรักและเมตตาอาทรด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู มีคุณธรรม จริยธรรม และประพฤติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ
ขอแสดงความยินดีต่อ มาดามฮาจา รัตนาวดี บินติ ฮาจิ โมฮัมมัด, นางสาวทอช บันดาว, นายฮอร์วิน ฮามิด, นางวงสัมพัน คำสร้อย, นายไซนุดดิน ซาคาเรีย, นางสาว ยี มอนโซ, นายวิลเลียม โมราคา, นางหวัง ลืมไอ่ เหลียน, นายเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ, นายจูลิโอ ไซมอน มาเดียรา, นางทราน ติ ตวย ดุง ผู้ได้รับรางวัลในครั้งนี้
ทุกท่านนับเป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นพัฒนาในการปฏิบัติหน้าที่การสอนอย่างมีประสิทธิภาพสูงยิ่ง มีความรักและเมตตาลูกศิษย์อย่างจริงจัง อันเป็นแบบอย่างอันประเสริฐ ที่จะน้อมนำให้บุคคลทั่วไปเกิดศรัทธาชื่นชม และนิยมยินดีที่จะเสียสละกำลังกาย กำลังความคิด ตลอดจนประโยชน์สุขส่วนตัว เพื่อเสริมสร้างประโยชน์สุขและความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ลูกศิษย์และการศึกษาของชาติต่อไป ข้าพเจ้าจึงขอแสดงความนิยมยกย่องด้วยอย่างจริงใจ กับทุกท่านทั้ง 11 คน ที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 1 ปี 2558 ในวันนี้
ณ บัดนี้ ขอให้การประชุมประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ทุกประการ และขออวยพรให้ท่านทั้งหลายที่มาร่วมชุมนุมกันในวันนี้ มีกำลังใจ กำลังกาย และสติปัญญา ที่จะทำประโยชน์เกื้อกูลแก่ลูกศิษย์ได้ยิ่งๆ ขึ้น ประสบความสุข ความเจริญก้าวหน้าสืบไปโดยทั่วกัน"
ที่มา เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 3 ตุลาคม 2558