อธิการบดี มรภ.ร่วมหารือ รมว.ศึกษาธิการ เผยพร้อมสนองนโยบายวอนรัฐสนับสนุน 3 ประการ พัฒนาอาจารย์ เสริมกำลังผลิตครูและเพิ่มกรอบอัตรากำลัง เพื่อตอบโจทย์คุณภาพให้ได้ ชี้ ราชภัฏมุ่งลดความเหลื่อมล้ำในสังคม แต่กลับถูกปฏิบัติจากรัฐอย่างเหลื่อมล้ำ เมื่อเทียบกับกลุ่มมหาวิทยาลัยเก่าแก่
ผศ.ดร.ประโยชน์ คุปต์กาญจนากุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)สุราษฎร์ธานี ฐานะรองประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ได้เดินทางมายังมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เพื่อร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคใต้ ประจำปีการศึกษา 2556 - 2557 และได้ถือโอกาสนี้พบปะพูดคุยกับอธิการบดี มรภ. บางแห่งที่เดินทางมาร่วมพิธีดังกล่าว กลุ่มราชภัฏ ยืนยันและยินดีที่จะสนองนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ ในการมุ่งสร้างความเข้มแข็งและกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพราะราชภัฏทั้ง 39 แห่ง ก็กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ทำงานร่วมกับท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน และตั้งปณิธานที่จะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม เรามุ่งหวังให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)เข้าใจธรรมชาติของราชภัฏ ทุกวันนี้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณภาพของ "บัณฑิตราชภัฏ" แต่อยากให้มองด้วยว่าราชภัฏยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยมาได้เพียง 10 ปี จะเอาไปเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยเก่าแก่ได้อย่างไร นอกจากนี้ที่ผ่านมารัฐบาลตั้งเป้าให้ราชภัฏตอบโจทย์เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ คนที่ด้อยโอกาสทางการศึกษาและด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ มุ่งหวังให้ราชภัฏพัฒนาทักษะเพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ ไม่ให้คนกลุ่มนี้เป็นภาระของประเทศชาติ ดังนั้น ต้องเข้าใจธรรมชาติและพันธกิจของราชภัฏด้วย
ผศ.ดร.ประโยชน์ กล่าวต่อไปว่า ระหว่างการหารือ อธิการบดี มรภ.ได้ขอให้รัฐบาลสนับสนุนใน 3 ประการ ได้แก่ 1.การพัฒนาบุคลากร เช่น การศึกษาต่อหรือการสร้างงานวิจัย โดยขอโควตาพิเศษให้กับอาจารย์ราชภัฏ เนื่องจากราชภัฏอยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยใหม่ หากไปแข่งขันกับอาจารย์ในกลุ่มมหาวิทยาลัยเก่าโดยตรงก็อาจเสียเปรียบ 2.สนับสนุนพันธกิจของมหาวิทยาลัยราชภัฏในการผลิตและพัฒนาครู ซึ่งถือเป็นความถนัดของราชภัฏ เนื่องจากทำมานาน และ 3.ขอกรอบอัตรากำลังเพิ่ม เพราะทุกวันนี้อาจารย์ราชภัฏรับโหลดการสอนมากจนไม่มีเวลามาทำพันธกิจด้านการวิจัยและการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
"ราชภัฏกำลังช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยการเปิดพื้นที่ทางการศึกษาให้กับคนที่ด้อยโอกาส แต่ในขณะเดียวกันราชภัฏ ก็ได้รับการปฏิบัติอย่างเหลื่อมล้ำจากรัฐ ดังนั้น เราจึงขอความสนับสนุนจากรัฐเพิ่มขึ้น เพื่อจะได้มีกำลังในการตอบโจทย์ด้านคุณภาพ" ผศ.ดร.ประโยชน์ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 4 ตุลาคม 2558