เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก 17 ประการ
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 ผู้นำประเทศกว่า 193 ชาติได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ (UN General Assembly) ณ กรุงนิวยอร์ค เพื่อรับรอง "เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก 17 ประการ" (The Global Goals for Sustainable Development)
ที่มาภาพประกอบจาก เว็บไซต์ สสค.
‘ยูเอ็น’ เพิ่ม 17 เป้าการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกถึงปี 2573 หลังจบ 8 เป้าการพัฒนาแห่งสหัสวรรต ยก “กองทุนการศึกษาโลก” รูปแบบการบูรณาการ “ความรู้-ภาคี-ทุน” อย่างเป็นรูปธรรม
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 ผู้นำประเทศกว่า 193 ชาติได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติ (UN General Assembly) ณ กรุงนิวยอร์ค เพื่อรับรอง
"เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก 17 ประการ" (The Global Goals for Sustainable Development) ประกอบด้วย
1) ขจัดความยากจน
2) ขจัดความอดอยาก
3) การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
4) การศึกษาที่มีคุณภาพ
5) ความเท่าเทียมทางเพศ
6) สุขาภิบาลและน้ำสะอาด
7) การมีพลังงานสะอาดใช้อย่างเพียงพอ
8) งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
9) พัฒนาภาคอุตสาหกรรม นวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อม
10) ลดความเหลื่อมล้ำ
11) สร้างให้เกิดชุมชนเมืองที่ยั่งยืน
12) การบริโภคและผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ
13) การดูแลเรื่องสภาพภูมิอากาศ
14) ดูแลทรัพยากรทางน้ำ
15) ชีวิตบนพื้นดิน
16) การสร้างความสงบ ความยุติธรรมและสถาบันที่เข้มแข็ง และ
17) ภาคีความร่วมมือเพื่อผลักดันให้ถึงเป้าหมาย
“สำหรับเป้าหมายทั้ง 17 ข้อนั้น อาศัยกรอบแนวคิดที่มองการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมิติที่เชื่อมโยงกันของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในการรวบรวมความเห็นและข้อเสนอจากประชาชนจากทุกประเทศทั่วโลก ที่จะใช้เป็นเป้าหมายเพื่อการพัฒนาร่วมกันในอีก 15 ปีข้างหน้าจนถึงปี 2573 เพื่อทดแทนเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) ทั้ง 8 ข้อที่จะสิ้นสุดลงในปี 2558 นี้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีเป้าหมายร่วมในการมุ่งขจัดความยากจนของประชากรโลกทั้งสิ้น 836 ล้านคนทั่วโลกให้หมดสิ้นไปภายในปี 2573
ด้านเป้าหมายด้านการศึกษามีสาระสำคัญคือ ให้จัดการศึกษาแก่เด็กเยาวชนทุกคนตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษา รวมทั้งสร้างเสริมโอกาส "การเรียนรู้ตลอดชีวิต" แก่ประชาชน ซึ่งถือเป็นความท้าทายของประเทศด้อยพัฒนา และประเทศกำลังพัฒนาที่ยังมีเด็กและเยาวชนอีกกว่า 124 ล้านคนที่ยากขาดโอกาสทางการศึกษา เพราะจากการประมาณการพบว่าจำเป็นต้องใช้งบประมาณปีละกว่า 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ตลอด 15 ปีข้างหน้าเพื่อบรรลุเป้าหมาย
ด้วยเหตุนี้องค์การสหประชาชาติจึงเน้นย้ำความสำคัญของเป้าหมายข้อ 17 ที่เน้นการสร้างภาคีความร่วมมือเพื่อผลักดันให้ถึงเป้าหมาย (Partnerships for Goals) ซึ่งส่งเสริมการทำงานร่วมกันจากทุกภาคส่วน ทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติเพื่อสนับสนุนการระดมเงินทุน เทคโนโลยี การยกระดับศักยภาพของส่วนราชการและองค์กรสาธารณประโยชน์ และความรับผิดชอบต่อเป้าหมายร่วมกัน”
“กองทุนการศึกษาโลก” (Global Partnership for Educations: GPE) จึงเป็นหนึ่งในตัวอย่างการร่วมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีหน้าที่ระดมทรัพยากรจากประเทศพัฒนาแล้วเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของกองทุนเพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ต้องการการสนับสนุนด้านทรัพยากร องค์ความรู้ทางวิชาการ และนวัตกรรมการจัดการที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการศึกษาให้ได้ เพื่อสนับสนุนงานด้านการศึกษาขององค์การยูเนสโกและประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติทั่วโลก โดย Ms. Alice Albright ผู้จัดการกองทุนการศึกษาโลก ได้ใช้โอกาสในการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การสหประชาชาติสมัยที่ 70 จัดตั้งคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยผู้นำประเทศอย่าง ประธานาธิบดีชิลี อินโดนีเซีย มาลาวี นายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ และผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโกเพื่อการระดมทุนสนับสนุนการศึกษาโลก (Commission on Financing Global Education) ให้ได้ตามเป้าหมาย 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ต่อปี เพื่อช่วยให้ประเทศด้อยพัฒนาและประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกประสบความสำเร็จ
ขอบคุณที่มาจาก สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) วันที่ 30 กันยายน 2558