คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลสำรวจหลังลดเวลาเรียน พบว่า นักเรียนมีความสุขกับการเรียนเพิ่มขึ้น จึงเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ ควรลดการบ้านและรายงานให้กับนักเรียน
ผลสำรวจโครงการ เรื่อง "การจัดเวลาแห่งความสุขของนักเรียนจากนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" จากการสุ่มตัวอย่างนักเรียนทั่วประเทศกว่า 2,000 คน เมื่อวันที่ 17-29 กันยายนที่ผ่านมา พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับนโยบายกว่าร้อยละ 70 เพราะทำให้มีความสุขกับการเรียนมากขึ้น โดยกิจกรรมที่นักเรียนต้องการทำหลังเวลา 14.00น. คือ กิจกรรมชมรมเลือกเสรี ร้อยละ 65.53 ทำการบ้านให้เสร็จ ร้อยละ 61.30 และกิจกรรมเสริมทักษะชีวิต ร้อยละ 60.23
นอกจากนี้ หากต้องการให้นโยบายประสบผลสำเร็จ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ต้องการให้เพิ่มคุณภาพการสอนของครู ปรับเปลี่ยนการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ลดการบ้านและรายงานให้น้อยลง ขณะที่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา ต้องการให้ลดการบ้าน ลดการทำรายงาน และปรับลดเนื้อหาที่ไม่จำเป็นออก
ด้านศาสตราจารย์ สมพงษ์ จิตระดับ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเด็กและเยาวชน เสนอว่า กระทรวงศึกษาธิการ ต้องยกเลิกหลักสูตรแกนกลาง ปี 2551 แล้วก็กำหนดหลักสูตรใหม่ เนื้อหาสาระไม่ควรเกิน 5 กลุ่มเท่านั้น เช่น กลุ่มสร้างเสริมลักษณะนิสัย กลุ่มสัมมาอาชีวะ กลุ่มภาษา วรรณกรรม และกิจกรรมคัดสรร กำหนดกรอบเวลาเรียน 600-800 ชั่วโมง การวัดผลต้องมีทั้งอัตนัยและปรนัยควบคู่กันไป
ที่มา ThaiPBS วันที่ 2 ตุลาคม 2558