คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เห็นชอบโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2558 ที่สะท้อนต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจ การลงทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงการกำกับประสิทธิภาพการดำเนินงานและความต้องการรายได้ของ 3 การไฟฟ้า ตามหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา ทำให้สามารถลดค่าไฟฟ้าขายปลีกลงได้ 1.05 สตางค์/หน่วย เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 เป็นต้นไป
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษกของ กกพ. เปิดเผยถึงเรื่องการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ว่า ภายหลังจากที่ได้เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน กกพ. ระหว่างวันที่ 16 – 28 กันยายน 2558 โดยเมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมา กกพ. ได้มีมติเห็นชอบอัตรา ค่าไฟฟ้าปี 2558 ประกอบด้วย โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง-ขายปลีก สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ การชดเชยรายได้ระหว่างการไฟฟ้า และแนวทางการกำกับการดำเนินงานตามแผนการลงทุน โดยทั้งหมดนี้ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนพฤศจิกายน 2558 เป็นต้นไป
สำหรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกในปัจจุบันได้มีการใช้มาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2555 เป็นเวลากว่า 3 ปี ประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าฐานประมาณ 3.27 บาทต่อหน่วย และค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (เอฟที) ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนทุก 4 เดือน
โดยแนวทางการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกปี 2558 จะสอดคล้องกับมติ กพช. ที่กำหนดให้สอดคล้องกับค่าเอฟทีเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2558 เท่ากับ 49.61 สตางค์/หน่วย ดังนั้น การปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปี 2558 นี้ จึงเป็นการรวมค่าไฟฟ้าฐานเดิมและค่าเอฟทีเดือนพฤษภาคม –สิงหาคม 2558 ไว้ด้วยกันเป็นอัตราค่าไฟฟ้าฐานใหม่ (3.7661 บาท/หน่วย) และ กกพ. ได้พิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่าสามารถปรับลดค่าไฟฟ้าลงได้ 1.05 สตางค์/หน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าฐานใหม่จะอยู่ที่ 3.7556 บาท/หน่วย
โดยสาระสำคัญของการปรับปรุงโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปี 2558 คือ 1) ปรับลดค่าไฟฟ้าขายปลีกเฉลี่ยลดลง 1.05 สตางค์/หน่วย ซึ่งเป็นผลมาจากการทบทวนความต้องการรายได้ของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง (กฟผ. กฟน. และ กฟภ.) และการกำกับดูแลแผนการลงทุนของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ที่มีเงินลงทุนต่ำกว่าแผนรวมเป็นเงินประมาณ 25,696 ล้านบาท
โดย กกพ. ได้ปรับจากเงินลงทุนที่ต่ำกว่าแผนในช่วงปี 2555 – 2556 มาลดค่าไฟฟ้าได้จำนวน 3,220 ล้านบาท หรือประมาณ 0.81 สตางค์/หน่วย 2) ปรับอัตราค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาของการใช้ (TOU) ให้สะท้อนต้นทุนการผลิตที่แท้จริง 3) ทบทวนอัตราเงินอุดหนุนค่าไฟฟ้าฟรีสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่มีรายได้น้อย หรือนโยบายค่าไฟฟ้าฟรี 50 หน่วย 4) กำหนดให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รับภาระค่าธรรมเนียมหักบัญชีธนาคารให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในลักษณะเดียวกับการไฟฟ้านครหลวง เพื่อให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายมีมาตรฐานเดียวกันในการดำเนินงาน
สำหรับการปรับค่าเอฟทีในเดือนกันยายน–ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา กกพ. ได้มีมติให้ปรับลดลงจาก 49.61 สตางค์/หน่วย ลงเหลือ 46.38 สตางค์/หน่วย หรือลดลงจำนวน -3.23 สตางค์/หน่วย ซึ่งมีการเรียกเก็บในเดือนกันยายน – ตุลาคม 2558 มาแล้วนั้น เมื่อมีการปรับอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ กกพ. ได้เห็นชอบให้มีการเรียกเก็บค่าเอฟทีรอบเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2558 จำนวน -3.23 สตางค์/หน่วย สำหรับค่าเอฟทีรอบเดือนมกราคม – เมษายน 2559 เป็นต้นไป จะปรับตามต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไปจากค่าไฟฟ้าฐานใหม่เท่านั้น
“การปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าปี 2558 ครั้งนี้ เป็นไปเพื่อให้มีการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เงินลงทุน โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าเป็นสำคัญ โดย กกพ. ได้แจ้งให้การไฟฟ้าดำเนินการประกาศเผยแพร่อัตราค่าบริการไฟฟ้าใหม่นี้ ผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน สำนักงานการไฟฟ้า การประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงเอกสารเผยแพร่ เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้า ทั่วประเทศได้รับรู้และรับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึงก่อนการใช้ไฟฟ้าประจำเดือนพฤศจิกายน 2558” นายวีระพล กล่าว
ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 2 ตุลาคม 2558