รมช.ศธ.เผยเคมบริดจ์แนะปฏิรูปการศึกษาไทยต้องดูบริบทประเทศ หลักสูตร ตำรา การประเมินผล ต้องสอดคล้อง ชี้ครูต้องประเมินผลทันทีหลังสอนเสร็จ เพื่อดูว่าเด็กเข้าใจบทเรียนมากน้อยแค่ไหน
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับสถาบันการส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เพื่อรายงานผลโครงการประเมินกรอบหลักสูตร Cambridge International Examinations : CIE ที่มหาวิทยาลัยเคมบริจด์เข้ามาช่วยวิเคราะห์หลักสูตร การเรียนการสอน การวัด ประเมินผล และข้อสอบวัดมาตรฐานต่างๆ ของไทย โดยเฉพาะการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ว่า จากการประเมินพบว่าหากต้องการปฏิรูปในภาพใหญ่ของระบบการศึกษาไทย จะต้องคิดถึงบริบทของประเทศเป็นสำคัญ แม้ว่าจะมีการศึกษาดูงานของประเทศต่างๆ ก็ต้องนำมาปรับให้เข้ากับประเทศ และต้องมีการบูรณาการการทำงานระหว่างกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ด้านการศึกษาด้วย ทั้งนี้ หากจะปฏิรูปการศึกษาต้องให้ความสำคัญกับหลักสูตรการเรียนการสอน ตำรา และการประเมินผล ต้องสอดคล้องกัน ปัจจุบันหลักสูตรจะไม่ได้สอนเด็กในทุกๆ เรื่อง แต่เรื่องที่เรียนรู้ต้องรู้ลึก รวมถึงการวัดและประเมินผลจะต้องเกิดขึ้นทันทีหลังเสร็จสิ้นการเรียนการสอน เพื่อจะทำให้ครูได้ทราบว่าสิ่งที่สอนไปเด็กมีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน มีลำดับขั้นตอนการจัดการเรียนการสอนที่ชัดเจน
"อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้อยู่ในระหว่างการปรับหลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งทาง สสวท.เป็นผู้ที่ทำหน้าที่กำหนดกรอบมาตรฐานหลักสูตรวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ขณะนี้ก็จะมีการปรับกรอบมาตรฐานดังกล่าวให้มีความหลากหลายและเข้มข้นมากขึ้น จากนั้นจะเสนอให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พิจารณาต่อไป แต่ขอย้ำว่าผมไม่ได้เอาอาหารฝรั่งมาเสิร์ฟ เพียงแต่นำเคมบริจด์เข้ามาช่วยชี้จุดอ่อนเรื่องการศึกษาของประเทศเรา ดังนั้นหน้าที่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงต่างๆ ก็ยังคงเป็นของคนไทยที่จะต้องช่วยพัฒนาการศึกษาชาติให้เดินหน้าต่อไปได้" รมช.ศธ.กล่าว.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 1 ตุลาคม 2558