กรณีการเลื่อนเวลาปิดเปิดเทอมมหาวิทยาลัยไทยตามอาเซียนที่เป็นอยู่ขณะนี้คือ จากเดิมที่เคยเปิดเทอมแรกในเดือนมิถุนายนแล้วไปปิดเทอมย่อยในเดือนตุลาคม และไปเปิดเทอมสองในเดือนพฤศจิกายนแล้วไปปิดเทอมใหญ่ในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคมนั้น ได้เปลี่ยนมาเปิดเทอมแรกในเดือนสิงหาคมแล้วไปปิดเทอมย่อยในเดือนธันวาคม และเปิดเทอมสองในเดือนมกราคมแล้วไปปิดเทอมใหญ่กลางเดือนพฤษภาคมถึงปลายเดือนกรกฎาคม กล่าวคือ มหาวิทยาลัยไทยเลื่อนเวลาเรียนออกไปราว 2 เดือนทั้งระบบ โดยอ้างว่าเป็นการปิดเปิดเทอมตามอาเซียนที่กำลังจะรวมกลุ่มเป็นประชาคมอาเซียนปลายปีนี้ ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยไทยต้องเปิดให้มีการเรียนการสอนตรงกับช่วงฤดูฝน (มิถุนายน-กันยายน) อย่างเต็มๆ ในเทอมแรก และต้องเรียนต้องสอนกันในช่วงฤดูร้อน (มีนาคม-พฤษภาคม) อย่างเต็มๆ ในเทอมสอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดูไม่เข้าท่า
ที่มาภาพจาก ประชาชาติธุรกิจ
ตั้งแต่แรกแล้ว และไม่มีใครคาดคิดว่าสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะดำเนินการอย่างนี้จริงๆ เพราะเชื่อว่าผู้บริหารการศึกษาระดับสูงน่าจะคิดได้ถึงผลกระทบที่จะมีต่อภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย ดังนั้น จึงไม่มีใครออกมาคัดค้านอย่างจริงจังเสียแต่แรก แต่เมื่อ สกอ.สั่งการลงมาจริงๆ มหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ทำตามเหมือนเด็กว่าง่าย เพราะอธิการบดีส่วนใหญ่คงตกอยู่ในบริบทที่ว่า ตามเขาดูเหมือนเก่ง บ้างก็ว่าทดลองดูไปก่อน หากไม่เหมาะสมก็เปลี่ยนกลับมาแบบเดิม ซึ่งสุดท้ายก็เกิดปัญหามากมายตามมาอย่างที่ทราบๆ กันอยู่
สำหรับความไม่เหมาะสมของการปิดเปิดเทอมมหาวิทยาลัยตามอาเซียนนั้นเป็นเพราะมีการเรียนการสอนในช่วงที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะเกิดพายุและน้ำท่วม (กันยายนและตุลาคม) ในช่วงเทอมแรก และมีการเรียนการสอนในช่วงที่อากาศร้อนสุดสุด (เมษายนและพฤษภาคม) ในช่วงเทอมสองนั่นเอง และปัญหาอื่นๆ ที่ตามมาอีกมากมายดังที่ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ได้เคยสรุปไว้ในมติของ ปอมท. เรื่องการปิดเปิดเทอมมหาวิทยาลัยไทยตามอาเซียนในคราวประชุม ปอมท. ครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2558 ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 23 มิถุนายน 2558)
หลังจากปล่อยให้มีการปิดเปิดเทอมมหาวิทยาลัยตามอาเซียนมาจนครบหนึ่งปีการศึกษา (2557) แล้ว มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ก็พบปัญหาที่ตามมามากมาย หลายฝ่ายจึงออกมาคัดค้านอย่างจริงจัง อาทิ กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยไทยได้รณรงค์คัดค้านเรื่องนี้ผ่านทาง www.change.org ซึ่งขณะนี้มีผู้ลงชื่อคัดค้านแล้วกว่า 2 หมื่นรายชื่อ ขณะที่ตัวแทนคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็มีมติเสนอให้ สกอ.ทบทวนเรื่องนี้ แต่ สกอ.ก็ยังคงยืนยันจะไม่ทบทวน และขณะนี้ได้เปิดเทอมแรกของปีการศึกษา (2558) ไปแล้ว นั่นหมายความว่า มหาวิทยาลัยไทยจะต้องเปิดเทอมที่สองตามอาเซียนต่อไปอีกหนึ่งปีการศึกษาเป็นอย่างน้อย
ตามข้ออ้างของผู้เสนอให้มหาวิทยาลัยมีการปิดเปิดเทอมตามอาเซียนนั้น นับเป็นเรื่องตลกร้ายที่สุดเพราะแท้จริงแล้วกลับพบว่า การปิดเปิดเทอมของมหาวิทยาลัยไทยที่เปลี่ยนไปนี้ ไม่ได้สอดคล้องอะไรกับมหาวิทยาลัยของประเทศต่างๆ ในอาเซียนเลย เพราะแต่ละประเทศในอาเซียนมีช่วงเวลาปิดเปิดเทอมที่หลากหลาย (ดังตาราง) แม้แต่ประเทศลาวที่ดูเหมือนมีช่วงปิดเปิดเทอมตรงที่สุดกับประเทศไทย (ดูเหมือนไทยเปลี่ยนตามลาว) ก็ยังไม่จริง เพราะเทอมแรกของมหาวิทยาลัยไทยตรงกับเทอมสองของมหาวิทยาลัยลาว แล้วอย่างนี้จะอ้างว่า เพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของอาเซียนได้อย่างไร?
ถึงตรงนี้ จึงไม่ทราบว่าใครถูกหลอกและใครหลอกใคร ระหว่างที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) และคนในมหาวิทยาลัยที่ถูกหลอกมาตลอด เชื่อว่าเรื่องนี้จะต้องมีเบื้องหน้าเบื้องหลังในการเสนออย่างแน่นอน แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะประเด็นสำคัญคือ เราจะยอมให้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนี้บั่นทอนคุณภาพของอุดมศึกษาไทยต่อไปอีกหรือ? เพราะได้เห็นกันชัดๆ แล้วว่า ในปีการศึกษา 2557 ที่ผ่านมา การปิดเปิดเทอมที่ว่าตามอาเซียนนั้น นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์อย่างเป็นชิ้นเป็นอันต่อวงการอุดมศึกษาไทยในภาพรวมแล้ว แต่กลับเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงต่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ และเป็นอุปสรรคต่อการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมไทย ซึ่งล้วนเป็นภารกิจหลักที่สำคัญของมหาวิทยาลัยไทยทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีผลกระทบไปถึงครอบครัว สังคม และประเทศชาติในด้านการใช้พลังงานและทรัพยากรอีกด้วย
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยไทยนับว่าอยู่รั้งท้ายในกลุ่มอาเซียน แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่บ่งบอกถึงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่ได้ผลอย่างชัดเจน ทั้งการประกันคุณภาพการศึกษาภายในและภายนอก การปรับเปลี่ยนสถานภาพไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และการปรับโครงสร้างกระทรวง รวมทั้งการปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีเป็นว่าเล่น ดูเหมือนจะมีแต่การเปลี่ยนแปลงที่ล้วนบั่นทอนคุณภาพการศึกษาและลดประสิทธิภาพการทำงานของมหาวิทยาลัยลงไปอีกแทบทั้งสิ้น
ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการก็เพิ่งได้รัฐมนตรีว่าการและช่วยว่าการชุดใหม่ รวมทั้งกำลังจะได้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาคนใหม่ จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มีการทบทวนเรื่องนี้กันอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง เพราะผู้บริหารชุดที่แล้วเคยยืนยันว่าจะไม่ทบทวนเรื่องนี้ ทั้งๆ ที่มีหลายฝ่ายออกมาให้ข้อมูลและเหตุผลว่าควรปรับคืนไปเหมือนเดิม แต่ไม่รู้ว่าด้วยอัตตาที่สูงเกินขีดธรรมดา หรือเป็นเพราะยังคงอยู่ในบริบทที่ว่า "ตามเขาดูเหมือนเก่ง คิดเองดูเหมือนโง่" ปัญหาจึงยังคงอยู่
หากปล่อยให้เวลาล่วงเลยต่อไป การเปลี่ยนแปลงแก้ไขก็จะยิ่งยุ่งยากซับซ้อนไปอีก เพราะธรรมชาติของผู้ปฏิบัติมักจะเคยชินกับงานประจำจนมองไม่เห็นปัญหา เหมือนอีกหลายๆ เรื่องในวงการศึกษาไทยที่พลาดไปจนไม่อาจแก้ไขได้ในทุกวันนี้
สุพจน์ เอี้ยงกุญชร
คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ม.แม่โจ้
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 29 กันยายน 2558