สมศ.ประกาศเกณฑ์ใหม่ประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 ลดตัวบ่งชี้ เอกสาร และวันตรวจเยี่ยม แต่ทุก 5 ปีสถานศึกษาทุกแห่งต้องได้รับประเมินหนึ่งครั้ง ยกเลิกวัดผล "ผ่าน-ไม่ผ่าน" แต่ให้เกรดไล่ระดับตั้งแต่ "จำเป็นต้องปรับปรุง" ไปจนถึงการเป็น "ต้นแบบ" และหลังจากนั้น 2 ปีมาขอประเมินแบบสมัครใจได้ หรือถ้าอยากยกระดับสากล สามารถให้ต่างประเทศร่วมประเมินได้อีกเช่นกัน "มณฑล" ลั่นเลิกใช้ไม้บรรทัดอันเดียววัดทุกสถาบัน แต่ให้อิสระเลือกตัวบ่งชี้ได้เอง
นายชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (ผอ.สมศ.) กล่าวถึงการปรับปรุงการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษารอบ 4 (ประจำปีงบประมาณ 2559-2563) ว่า หลังหารือกับ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจินได้เห็นชอบให้ดำเนินการประเมินรอบ 4 ตามกรอบเวลาเดิมในรูปแบบประเมินออนไลน์ ซึ่งจะเริ่มประเมินตั้งแต่เดือน ม.ค.2559 เป็นต้นไป ภายใต้นโยบาย "ลดภาระ สร้างสรรค์ กัลยาณมิตร" โดยสถานศึกษากลุ่มแรกที่จะเข้าประเมินในปีแรก ประกอบด้วยสถานศึกษาทุกระดับที่เข้ารับการประเมินรอบ 3 ปีงบประมาณ 2554 และสถานศึกษาทุกระดับที่ใช้วิธีการประเมินคุณภาพเชิงพื้นที่ จำนวน 22 จังหวัด อาทิ กรุงเทพฯ กำแพงเพชร ชัยนาท ชุมพร เชียงราย ตรัง ภูเก็ต ระยอง ลำพูน เป็นต้น
ทั้งนี้ ในการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 จะแบ่งการประเมินออกเป็น 2 รูปแบบคือ
1.การประเมินเพื่อพัฒนา ซึ่งสถานศึกษาทุกแห่งต้องเข้ารับการประเมินตามกฎหมายอย่างน้อย 1 ครั้งใน 5 ปี และการประเมินแบบรับรองมาตรฐาน ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของสถานศึกษา โดยผลการประเมินจะไม่ได้บอกว่าผ่านหรือไม่ผ่าน แต่จะเป็นแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 ต้นสังกัดจำเป็นต้องให้การสนับสนุนเพื่อแก้ปัญหา
กลุ่มที่ 2 ต้นสังกัดต้องให้การสนับสนุนเพื่อแก้ปัญหา
กลุ่มที่ 3 ต้นสังกัดต้องให้การสนับสนุนเพื่อพัฒนา
กลุ่มที่ 4 ต้นสังกัดต้องให้การส่งเสริมในการยกระดับมาตรฐาน และ
กลุ่มที่ 5 ต้นสังกัดต้องให้การส่งเสริมในการเป็นต้นแบบ และขอรับรองตามสมัครใจ สามารถขอได้ภายใน 2 ปีหลังจากการประเมิน
2.การประเมินแบบรับรองมาตรฐาน เป็นการประเมินตามความสมัครใจของสถานศึกษา และมีการเทียบเคียงมาตรฐานระดับสากล เพื่อยกระดับสถานศึกษาให้สามารถแข่งขันระดับสากลได้ โดยมี 2 รูปแบบ ได้แก่
มาตรฐานขั้นพื้นฐาน โดย สมศ.จะตรวจเยี่ยมสถานศึกษาไม่เกิน 3 วัน
ส่วน
มาตรฐานขั้นสูง จะประเมินแบบก้าวหน้า คือประเมินร่วมระหว่างไทยกับสากล และแบบท้าท้าย เพื่อการจัดอันดับในอาเซียน ภูมิภาคเอเชีย และอันดับโลก
ผอ.สมศ.สรุปว่า การประเมินรอบ 4 มีจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ
1.กระชับตัวบ่งชี้ จะลดตัวบ่งชี้ลงในการประเมินทุกระดับ เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐาน เดิม 12 ตัวหลัก 25 ตัวย่อย เหลือ 12 ตัวหลัก 18 ตัวย่อย เป็นต้น
2.ลดปริมาณเอกสาร โดยให้สถานศึกษาส่งเอกสารเป็นไฟล์ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อลดจำนวนการเตรียมเอกสารในการทำรายงานส่งผู้ประเมิน และ
3.ลดจำนวนวันตรวจเยี่ยมสถานศึกษา จากเดิม 3 วัน เหลือไม่เกิน 3 วัน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกรรมการ สมศ.ในแต่ละระดับ ซึ่งบางแห่งอาจไม่ต้องลงไปตรวจเยี่ยมเลยก็ได้ เช่น โรงเรียนดัง เป็นต้น
นอกจากนั้น สมศ.มีแผนจะเปิดสายด่วนการประเมินรอบ 4 เพื่อให้ข้อมูลและตอบข้อซักถาม" ผอ.สมศ.กล่าว
ด้านนายมณฑล สงวนเสริมศรี ประธานกรรมการบริหาร สมศ. กล่าวว่า ในการประเมินรอบ 4 สถานศึกษาทุกแห่งมีสิทธิ์เลือกตัวบ่งชี้ที่จะใช้ประเมิน ซึ่ง สมศ.จะประกาศตัวบ่งชี้ให้ทราบในวันที่ 14-15 ตุลาคมนี้ เพราะ สมศ.ไม่อยากให้การประเมินใช้ไม้บรรทัดเดียวกันในการวัดทุกแห่ง และต้องการให้การประเมินสอดคล้องกับบริบทของแต่ละสถานศึกษา เพื่อสะท้อนความจริงให้ได้มากที่สุด.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 30 กันยายน 2558