ผอ.ใหญ่ออมสินจับเข่าคุย สกสค. แก้ปัญหาหนี้สินครู "พินิจศักดิ์" ชงเลิกจ่ายหนี้แทนครูสิ้นเชิง ให้เห็นสภาพหนี้ที่แท้จริง เผยครูเบี้ยวหนี้ส่วนใหญ่ เพราะเห็นว่ามีกองทุนฯจ่ายแทนแล้วบอกต่อ ๆ กัน
วันนี้ (29ก.ย.) ที่สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการ และสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้เดินทางเข้ามาหารือร่วมกับ นายพินิจศักดิ์สุวรรณรังค์ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค.เกี่ยวกับการแก้ปัญหาหนี้สินครูตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) โดยนายพินิจศักดิ์ เปิดเผยภายหลังการหารือว่า ธนาคารออมสินตกลงจะคืนเงินที่หักจากบัญชีเงินสนับสนุนพิเศษโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.6 ไปโดยพลการ จำนวน 86ล้านบาท ให้แก่ สกสค.รวมทั้งได้หารือถึงการปรับรายละเอียดหรือเงื่อนไขของกองทุน โดยตนได้เสนอให้ยุติการให้กองทุนฯใช้หนี้แทนครูที่ค้างชำระเงินกู้ หรือ ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากขอรับการสนับสนุนอีกต่อไป
“ที่ผมเสนอไม่ให้กองทุนฯใช้หนี้แทนครู เพื่อให้เห็นสภาพหนี้ที่แท้จริงของครู และให้ออมสินทวงหนี้โดยตรงกับครูที่สำคัญเป็นการปลุกจิตสำนึกครูว่า เมื่อเป็นหนี้ต้องส่งคืน ไม่ใช่รู้ว่ามีกองทุนใช้หนี้แทนแล้วไม่ยอมจ่ายแต่ทั้งนี้ยังไม่ถือเป็นข้อสรุปต้องมีการหารือร่วมกันอีก” นายพินิจศักดิ์ กล่าว
นายทองอยู่ แก้วไทรฮะ ที่ปรึกษาเลขาธิการ สกสค. กล่าวว่าตอนนี้ต้องมาหารือกันอย่างจริงจังว่าจะทำอย่างไรจึงจะสร้างสำนึกให้ครูที่เป็นหนี้มาชำระเงินคืน และต้องปรับหลักเกณฑ์การกู้เงินไม่ใช่ให้กู้ได้ง่ายๆอีกต่อไป ที่ผ่านมาคนที่ไม่มีความจำเป็นก็มากู้เพราะเห็นว่ากู้ได้ง่ายและบางคนก็มีเจตนาไม่ใช้หนี้เมื่อ สกสค.ไม่อนุญาตให้ธนาคารออมสินหักเงินจากกองทุนฯเพียงรอบเดียว ก็ทำให้เห็นว่ามีจำนวนครูที่เป็นหนี้เสีย หรือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หลายหมื่นคน ซึ่งจากการหารือเห็นว่ามีแนวจะดำเนินการในหลายวิธี ทั้งฟ้องครูที่ค้างชำระหนี้และเรียกมาปรับโครงสร้างหนี้แต่อย่างไรก็ตามจากการที่ธนาคารออมสินได้ดำเนินมาตรการแก้ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาก็พบว่ามีครูเข้าร่วมโครงการเพียง5,000 คนจากที่ลงทะเบียนไว้ถึง 21,680 คน ซึ่งถือว่าน้อยมาก
นางปิยาภรณ์ เยาวาจา พนักงานเจ้าหน้าที่ตำแหน่ง ผอ.สำนักสวัสดิการครูรักษาการรองเลขาธิการ สกสค.กล่าวว่า ปัจจุบันมีจำนวนครูที่เข้าโครงการสวัสดิการเงินกู้ช.พ.ค.กว่า 4 .6 แสนคน รวมเป็นวงเงินกู้กว่า 5 แสนล้านบาท และที่ผ่านมาแต่ละเดือนธนาคารออมสินจะหักเงินหนี้ค้างชำระจากกองทุนฯประมาณเดือนละ 300 กว่าล้าน แต่ในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมามีครูที่ไม่ชำระหนี้เพิ่มขึ้นมาก โดยเหตุผลหลัก คือ การบอกต่อๆกันว่า มีกองทุนจ่ายเงินแทนและขาดความเชื่อมั่น ตั้งแต่มีกรณีการทุจริตเกิดขึ้นทำให้เงินของกองทุนฯร่อยหรอ ต้องหาเงินมาชำระหนี้แทนครูเพิ่มถึงเดือนละ 100 กว่าล้านบาทดังนั้นต่อไปอาจจะต้องมีการฟ้องร้องครูที่ค้างชำระหนี้อย่างจริงจัง จากเดิมที่ให้โอกาสมาตลอด เพราะถือว่าเป็นการดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพครู
ที่มา หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 29 กันยายน 2558