“เฉลิมชัย” จวกการศึกษาไทยเน้นแต่ไอคิว มุ่งแต่คะแนน-ใบปริญญา จี้เพิ่มอีคิวในการปฏิรูปการศึกษา ขณะที่การลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ต้องฝึกให้เด็กได้ทำกิจกรรมร่วมกัน
วันนี้ (28 ก.ย.) นายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) เปิดเผยว่า การศึกษาไทยในเวลานี้มุ่งเน้นแต่เรื่องความฉลาดทางปัญญา หรือไอคิว จนละเลยความฉลาดทางอารมณ์ หรืออีคิว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างจิตสำนึกที่นำไปสู่การรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ไทยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ต่ำมาก มุ่งแต่เรื่องคะแนน ใบปริญญา หรือเกียรตินิยม จึงอยากให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นำเรื่องอีคิวมาเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปการศึกษาด้วย โดยต้องเริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ซึ่งเป็นฐานรากของการสร้างคน มิฉะนั้นการสร้างคนจะมีฐานรากที่ไม่แข็งแรงเหมือนเช่นทุกวันนี้
"ที่ผ่านมาการอบรมและพัฒนาครูมุ่งเน้นแต่เรื่องวิชาการ ผมไม่เคยเห็นการอบรมอีคิวให้แก่ครู ทั้งๆ ที่กระบวนการเรียนการสอนสามารถสอดแทรกอีคิวได้ทุกวิชา เช่น ครูอาจใช้เวลาก่อนเข้าสู่บทเรียนประมาณ 10 นาที ยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม มาให้เด็กร่วมกันคิดวิเคราะห์ ข้อดีข้อเสีย ซึ่งจะเป็นการปลูกฝังให้เด็กเรียนรู้ มีจิตสำนึกทางบ้านเมือง สภาพแวดล้อม และวัฒนธรรม นอกจากนี้ผู้บริหาร และครูต้องประพฤติตัวเป็นแบบอย่างในด้านต่างๆ ให้แก่เด็กด้วย เช่น อยากให้โรงเรียนสะอาด ผู้บริหาร และครู ต้องเก็บขยะให้เด็กเห็นก่อน ไม่ใช่เอาแต่สั่งให้เด็กทำฝ่ายเดียว เป็นต้น" นายเฉลิมชัย กล่าว
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ของ ศธ. นั้น ตนอยากเสนอให้เน้นการทำกิจกรรมร่วมกันของนักเรียน โดยเฉพาะกิจกรรมที่เกิดประโยชน์ต่อโรงเรียน ผ่านการคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้แก่เด็ก และจะนำไปสู่การสร้างผลงานให้แก่ประเทศชาติต่อไป ที่สำคัญงานนั้นๆ ต้องให้เด็กคิดเองไม่ใช่การคัดลอกมา หรืออยากเป็นพระเอกคนเดียว จนทำให้ประเทศเต็มไปด้วยคนเห็นแก่ตัว ขณะที่ในส่วนของอุดมศึกษา อยากให้มหาวิทยาลัยไทยมีอธิการบดีที่คิดต่าง มีสุนทรียภาพ มุ่งให้เด็กมีไอคิวควบคู่กับอีคิว เพราะปัจจุบันมีนักศึกษาจำนวนมากที่จบออกไปแล้วทำงานร่วมกับผู้อื่นไม่ได้ ซึ่งสาเหตุก็มาจากมีพื้นฐานทางอีคิวไม่ดีพอ.
ที่มา เดลินิวส์ วันที่ 28 กันยายน 2558