แกะรอยนโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" นำร่องพัฒนาทักษะเด็กไทย
ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้
หนึ่งในนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ประกาศหลังเข้ารับตำแหน่งเพียงไม่กี่วัน
ให้โรงเรียนเลิกเรียนเวลา 14.00 น. จากนั้นให้นักเรียนทำกิจกรรมที่เน้นการพัฒนาทักษะ โดยตั้งเป้าที่จะเริ่มนำร่องในสถานศึกษา 3,500 โรงทั่วประเทศ ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 เป็นต้นไป
ด้วยหวังว่าจะเป็นตัวช่วยหนึ่งที่สำคัญในการตอบโจทย์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เป็นห่วงว่าเด็กไทยเรียนเยอะแต่คิดไม่ได้ จบไปก็ทำอะไรไม่เป็น จึงสั่งให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งปฏิรูปการศึกษา
ทันทีที่นโยบายนี้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณชนก็สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมอย่างมาก เพราะมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
สำหรับฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่าเป็นเรื่องดีที่เด็กจะได้มีเวลาทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ทั้งกีฬา ดนตรี ศิลปะ การเรียนรู้วิถีชุมชน หรือทักษะดำเนินชีวิต ขณะที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเกรงว่าเวลาเรียนที่ลดลงแทนที่จะเพิ่มเวลารู้ อาจกลับกลายเป็นเพิ่มเวลาให้เด็กเก่งๆหันไปเรียนกวดวิชา รวมทั้งเพิ่มเวลามั่วสุมของเด็กที่ไม่ค่อยใส่ใจการเรียนหรือไม่
แต่ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ สิ่งหนึ่งที่ทุกคนโฟกัสตรงกันคือ ความห่วงใยในแนวทางดำเนินการของกระทรวงศึกษาธิการ รวมไปถึงกรอบกิจกรรมที่จะนำมาจัดให้กับเด็ก ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน
และล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ดาว์พงษ์ ได้รายงานความคืบหน้าแนวทางการบริหารจัดการเวลาเรียน ตามนโยบาย ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ หรือ Moderate Class More Knowledge พร้อมทั้งกรอบกิจกรรมต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
“ทีมการศึกษา” ขอนำแนวทางมากาง ซึ่งพบว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ได้วางแนวทางการบริหารจัดการเวลาเรียนใหม่ โดยระบุว่าการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ต้องดำเนินการใน 4 เรื่อง คือ หลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนรู้ การวัดผลประเมินผล และทบทวนหลังการปฏิบัติ โดยในส่วนของหลักสูตรยืนยันว่าไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีการปรับปรุงเนื้อหาโดยตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออก ซึ่งจะไม่กระทบตัวบ่งชี้ที่ใช้ออกข้อสอบ ทั้งของ สพฐ.และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ
ทั้งมีการจัดโครงสร้างเวลาเรียนใหม่ให้มีความยืดหยุ่น โดยระดับประถมศึกษาจากเดิมที่เรียน 1,200-1,400 ชั่วโมงต่อปี ปรับเป็นไม่เกิน 1,000 ชั่วโมงต่อปี แบ่งเป็นเรียน 8 กลุ่มสาระฯ 840 ชั่วโมง เพิ่มเติม 40 ชั่วโมง รวม 880 ชั่วโมง หรือเรียนในห้องเรียน 22 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ที่เหลือ 8-13 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็นกิจกรรมพัฒนาทักษะ ขณะที่ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จากเดิม 1,400 ชั่วโมงต่อปี เป็นไม่เกิน 1,200 ชั่วโมงต่อปี แบ่งเป็น 8 กลุ่มสาระฯ 880 ชั่วโมง เพิ่มเติม 200 ชั่วโมง รวม 1,080 ชั่วโมง หรือ 27 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนที่เหลือ 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ให้จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะ
สำหรับกิจกรรมพัฒนาทักษะผู้เรียน ประกอบด้วย 3 หมวด 13 กลุ่มกิจกรรม ได้แก่ หมวดที่ 1 สร้างเสริมสมรรถนะและการเรียนรู้ แบ่งเป็น กิจกรรมพัฒนาความสามารถด้านการสื่อสาร พัฒนาความสามารถด้านการคิดและการพัฒนากรอบความคิดแบบเปิดกว้าง พัฒนาความสามารถด้านการแก้ปัญหา พัฒนาความสามารถด้านการใช้เทคโนโลยี และพัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ หมวดที่ 2 สร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม แบ่งเป็น ปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึก การทำประโยชน์ต่อสังคมมีจิตสาธารณะและการให้บริการด้านต่างๆ ทั้งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวม ปลูกฝังความรักชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ ปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรม ปลูกฝังและสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทย หมวดที่ 3 สร้างเสริมทักษะการทำงานการดำรงชีพและทักษะชีวิต แบ่งเป็น ตอบสนองความสนใจความถนัดและความต้องการของผู้เรียนตามความแตกต่างระหว่างบุคคล ฝึกการทำงานทักษะทางอาชีพและอยู่อย่างพอเพียง พัฒนาความสามารถด้านการใช้ทักษะชีวิต และสร้างเสริมสมรรถนะทางกาย โดยใน 13 กลุ่มกิจกรรมจะมีรูปแบบที่เป็นเมนูย่อยยกตัวอย่างให้เห็น
“กิจกรรมที่จัดให้ผู้เรียนต้องตอบโจทย์ที่ทำให้ผู้เรียน มีเฮดฮาร์ท และแฮนด์ รู้จักใช้สมอง คือความคิด มีหัวใจคือจริยธรรม ทัศนคติที่ถูกที่ควร และมีมือคือ ฝึกให้มีทักษะ ซึ่ง สอดคล้องกับแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เน้นให้เด็กต้องเรียนรู้ 4 ด้านคือ พุทธิศึกษา จริยศึกษา หัตถศึกษา และพลศึกษา เชื่อว่าหากเด็กมีทั้งหมดนี้จะทำให้การศึกษามีความสมบูรณ์ จากนี้ สพฐ.จะเร่งอบรมครูผู้สอน และจัดสมาร์ทเทรนเนอร์ 300 ทีม ดูแลโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 1 ทีมต่อ 10 โรง โดยจะประเมินผล 2 ครั้ง ระหว่างภาคเรียน และหลังปิดภาคเรียนอีก 1 ครั้ง หากประสบความสำเร็จจะขยายเพิ่ม” พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ฐานะผู้คุมบังเหียนกระทรวงคุณครูกล่าวทิ้งท้ายในการแถลงข่าว
“ทีมการศึกษา” คงไม่สามารถชี้ถูก ชี้ผิดในนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ แต่อยากจะฝากข้อห่วงใยถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะเรามองว่าปัญหาใหญ่ไม่ได้อยู่ที่ “จำนวน” ชั่วโมงเรียน แต่สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่ “คุณภาพ” ของการบริหารจัดการ
หากมีการเปลี่ยนวิธีการแต่ยังใช้หลักสูตรเดิม ไม่ยอมปรับเนื้อหาสาระให้เหมาะสม ทันยุคทันสมัย ครูยังยึดติดกับวิธีจัดการเรียนการสอนแบบเดิมๆ และการวัดผลประเมินผลยังคงเป็นรูปแบบเก่าๆ เราเชื่อว่าการ “กวดวิชา” ก็จะยังแทรกเป็นยาดำอยู่กับเด็กไทยต่อไป และการ “ลดเวลาเรียน” คงไม่สามารถตอบโจทย์การปฏิรูปการศึกษาไทยได้อย่างแน่นอน
ที่สำคัญเรามองว่าแม้ว่าจะมีกรอบกิจกรรมและเมนูตัวอย่างไว้ป้อนถึงปาก แต่หากยังไม่มีการเตรียมความพร้อมในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้กับ “ครู” ที่เป็นกลไกหลักขับเคลื่อนกิจกรรมพัฒนาทักษะผู้เรียน ก็ยังสร้างความมั่นใจให้กับสังคมไม่ได้ว่าการ “เพิ่มเวลารู้” จะเกิดผลขึ้นตามที่วาดฝันไว้หรือไม่
ณ นาทีนี้เหลือเวลาอีกเพียงเดือนเศษก่อนที่จะเปิดภาคเรียนที่ 2 ในเดือน พ.ย.นี้ สพฐ.คงต้องเร่งเครื่องทุกด้านเต็มลูกสูบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการพัฒนาทักษะของผู้เรียนอย่างแท้จริง
ปลดแอก “เด็กไทย” พ้นวังวน “หนูทดลอง” เสียทีเถอะ!!!
ทีมการศึกษา ไทยรัฐ
ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 29 กันยายน 2558