สกอ.จับมือจุฬาฯพัฒนาระบบจัดการวิทยานิพนธ์ –คัดลอก พร้อมโยงฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ของประเทศ “พินิติ” ชวนสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆไม่สังกัดศธ.ร่วมใช้งานโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมาด้วย มั่นใจวิทยานิพนธ์ใหม่ไม่สามารถคัดลอกวิทยานิพนธ์เดิมได้ “ภิรมย์”คุยโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ ปรามพวกลอกวิทยานิพนธ์ได้ผลชงัด
วันนี้( 25ก.ย.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) รศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) และ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาระบบบริหารจัดการวิทยานิพนธ์สำหรับสถาบันอุดมศึกษาพร้อมเชื่อมโยงระบบตรวจสอบการลอกเลียนงานวรรณกรรมของวิทยานิพนธ์กับฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์กลางของประเทศ โครงการพัฒนาเครือข่ายห้องสมุดในประเทศไทย (ThaiLIS) โดยรศ.ดร.พินิติ กล่าวว่าการคัดลอกวิทยานิพนธ์ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการอุดมศึกษาส่งผลสะท้อนถึงการผลิตบัณฑิตที่ไม่มีคุณภาพของประเทศในภาพรวม ดังนั้นสกอ.จึงให้การสนับสนุนจุฬาฯในการพัฒนาระบบการตรวจสอบวรรณกรรม โดยใช้โปรแกรม “อักขราวิสุทธิ์”ของจุฬาฯซึ่งเป็นโปรแกรมการตรวจสอบวิทยานิพนธ์ภาษาไทยโดยสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลวิทยานิพนธ์ที่ สกอ.มีอยู่กว่า 4 แสนเล่มได้ ขณะนี้มีสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชนใช้โปรแกรมดังกล่าว
รศ.ดร.พินิต กล่าวต่อไปว่า หากสกอ.มีฐานข้อมูลที่กว้างขวางมาก ก็จะสามารถป้องกันการจ้างทำวิทยานิพนธ์การคัดลอกผลงานได้มากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นวิทยานิพนธ์ที่จะเกิดขึ้นใหม่ก็จะไม่สามารถคัดลอกวิทยานิพนธ์เดิมที่ สกอ.มีอยู่ทั้ง 4 แสนเล่ม รวมทั้งวิทยานิพนธ์ของมหาวิทยาลัยอื่นๆด้วย ทั้งนี้ตนคาดหวังให้สถาบันอุดมศึกษาอื่นๆที่ไม่ได้อยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ใช้โปรแกรมนี้เพื่อตรวจสอบวิทยานิพนธ์ของตนเองด้วย อาทิ สถาบันอุดมศึกษาในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ด้าน ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวว่า ทางจุฬาฯได้ใช้โปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ตรวจสอบเพื่อป้องกันการคัดลอกวิทยานิพนธ์มาตั้งแต่ปี2556และขยายให้มหาวิทยาลัยอื่นๆกว่า 60 แห่ง ได้ใช้ด้วย โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งก็สามารถป้องปรามการคัดลอกวิทยานิพนธ์ได้ผลดีนอกจากนี่ยังมีหลักสูตรให้นิสิตบัณฑิตศึกษาทุกคนต้องเรียนเกี่ยวกับขั้นตอนการเขียนวิทยานิพนธ์เพื่อป้องกันการคัดลอก และหลังจากนี้จุฬาฯก็จะใช้โปรแกรมอักขราวิสุทธ์ตรวจสอบสารนิพนธ์สำหรับนิสิตปริญญาตรีเพื่อป้องกันการคัดลอกวรรณกรรมด้วย“
ที่มา เดลินิวส์ วันที่ 25 กันยายน 2558