รมช.ศธ.ชี้การปรับปรุงระบบประเมินคุณภาพการศึกษา ต้องแก้ปัญหาที่ลดตัวชี้วัดจากเดิมมีเป็นร้อย ให้เหลือเฉพาะที่สะท้อนคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง ส่วนการประเมินออนไลน์ไม่ได้แก้ปัญหาลดงานเอกสาร ไม่มีความยั่งยืน
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวบรรยายพิเศษเรื่อง "ทิศทางการปฏิรูปอุดมศึกษาไทย และการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ" ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มรภ.สส.) ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้มีหนังสือร้องเรียนเข้ามาที่ตนจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องการประเมินคุณภาพการศึกษาในระดับต่างๆ ทั้งการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา และการประเมินคุณภาพภายนอกของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ซึ่งพบว่าสร้างภาระงานในด้านเอกสารให้แก่ครูอาจารย์เป็นอย่างมาก โดยตนได้นำเรื่องนี้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ในเบื้องต้นแล้ว ต่างเห็นร่วมกันว่าควรจะต้องยกเลิกการประเมินแบบเดิมที่เต็มไปด้วยกระดาษ รวมทั้งปรับลดตัวชี้วัดในการประเมินให้น้อยลงจากเดิม เพราะเวลานี้การประเมินต่างๆ มีตัวชี้วัดเป็นร้อยตัวซึ่งถือว่ามากเกินไป ดังนั้นในเร็วๆ นี้ ตนจะนำเรื่องดังกล่าวหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินต่อไป
"ตัวชี้วัดที่ดีต้องมีเพียงไม่กี่ตัว แต่สะท้อนคุณภาพที่แท้จริง และทำให้ผู้ถูกประเมินทราบว่าที่ปฏิบัติอยู่ทุกวันนี้มาถูกทางหรือไม่ที่จะเดินไปสู่เป้าหมาย ไม่ใช่วัดหลายร้อยชนิด อะไรวัดได้ก็นำมาวัดทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาการประเมินก็ยังไม่ได้ช่วยให้การพัฒนาการศึกษาเป็นไปในทางที่ดีขึ้น คุณภาพการศึกษาของเด็กไทยยังต่ำลง และตัวชี้วัดที่มากเกินไปยังสร้างภาระงานด้านเอกสารให้แก่ครูอาจารย์อีกด้วย ดังนั้นหลังจากนี้ ศธ.จะพยายามประกาศวันเลิกทาสกระดาษให้ได้ และปรับตัวชี้วัดให้เหลือน้อยลง" รมช.ศธ.กล่าว
สำหรับการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 (ปีงบประมาณ 2559-2563) ของ สมศ.นั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ส่วนที่ก่อนหน้านี้จะมีการปรับการประเมินเป็นรูปแบบออนไลน์เพื่อลดภาระงานเอกสารนั้น คงต้องหารืออีกครั้ง เพราะตนคิดว่าออนไลน์ไม่ได้ช่วยลดกระดาษอย่างแท้จริง แต่กลับต้องใช้กระดาษมากขึ้น เพราะการเก็บข้อมูลทางออนไลน์ไม่ยั่งยืน ซึ่งผู้ประเมินและถูกประเมินก็ต้องพิมพ์มาเป็นเอกสารเก็บไว้เป็นหลักฐาน.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 24 กันยายน 2558