ปลัด ศธ.เตรียมเสนอ ก.ค.ศ.เลื่อนออกหลักเกณฑ์ประเมิน วิทฐานะ หรือ ว.7 ไม่มีกำหนด เผยเกณฑ์ยังไม่ออกมีการเปิดรับติวแล้ว
นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับหลักเกณฑ์และวิธีการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้รับวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะเชี่ยวชาญตามข้อตกลงในการพัฒนางาน หรือ (Performance Agreement : PA) ว.7/2558 ซึ่งใช้ประกอบการเข้าสู่วิทยฐานะ ว่า สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครู (ก.ค.ศ.) และครูดีเด่นมาให้ข้อคิดเห็น โดยในส่วนของครูดีเด่นได้ให้ข้อคิดเห็นที่สำคัญว่า คนกลุ่มนี้ทำงานโดยไม่ได้นึกถึงการมีวิทยฐานะ เพียงแต่มุ่งทำงานดูแลเด็กให้ดีที่สุดเท่านั้น ครูบางคนทำหน้าที่ดูแลเด็กพิเศษ หรือเด็กที่เป็นออทิสติกที่มีอารมณ์แปรปรวน และต้องดูแลเด็กทั้งวันทั้งคืน ต้องมีความอดทน บางครั้งอาจจะโดนเด็กตบหน้า ก็ต้องไม่โกรธ ถือว่ามีจิตวิญญาณความเป็นครูมาก ดังนั้นก็อาจใช้การทำงานตรงนี้เป็นช่องทางหนึ่งในการเข้าสู่วิทยฐานะของครู ไม่ใช่ดูที่ผลงานทางวิชาการอย่างเดียว
ปลัด ศธ.กล่าวอีกว่า ส่วนการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) วันที่ 24 กันยายน ที่มี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน ตนจะสรุปรายละเอียดทั้งหมดให้ที่ประชุมได้รับทราบ และจะเสนอให้เลื่อนการประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการประเมิน PA หรือ ว.7 ออกไปก่อนโดยไม่มีกำหนด เพื่อรอจัดทำหลักเกณฑ์ใหม่ให้แล้วเสร็จก่อน เพราะถ้าไม่รอและเปิดสอบก็อาจจะถูกร้องเรียน และเท่าที่ทราบ แม้ว่ายังไม่มีการประกาศเกณฑ์ออกมา ก็มีการเปิดรับติวการเขียน PA แล้ว ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีการเก็บค่าใช้จ่ายหรือไม่
"การสอบเพื่อเข้ารับการประเมิน PA นั้นไม่น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการได้วิทยฐานะ โดยต่อไปอาจจะให้มีหลายช่องทาง อาทิ ดูผลการทำงานของครู ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก และให้การสอบเพื่อเข้ารับการประเมิน PA เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเท่านั้น นอกจากนั้นที่ประชุมยังเห็นว่า PA ไม่ควรมีคำว่ามาตรฐานกลาง แต่จะให้เป็นข้อตกลงตามสภาพการทำงานจริงของแต่ละโรงเรียน เพราะเห็นว่าการทำงานในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ดังนั้นการประเมินความยากง่ายจึงต้องแตกต่างกันไปด้วย"
ปลัด ศธ.กล่าวอีกว่า อีกทั้งจะปรับการทำงานของกรรมการผู้ประเมินจากเดิมที่มี 2 ชุด และต้องลงไปประเมินในพื้นที่ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวน 99,000 ต่อคน รวมแล้วหากประเมินครูทั่วประเทศจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ดังนั้นจึงจะปรับให้ประเมินจากพื้นที่ แล้วส่งผลงานมาให้คณะกรรมการจากส่วนกลางประเมินอีกครั้งหนึ่งเพื่อลดค่าใช้จ่าย
สำหรับครูสามารถขอเข้ารับการประเมินผ่านหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้มีผลงานดีเด่นที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ มีวิทยฐานะหรือเลื่อนวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ และวิทยฐานะเชี่ยวชาญทุกตำแหน่ง ว.13 และหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ ว.17 ไปก่อนจนกว่าจะมีการประกาศเกณฑ์ใหม่ออกมา และอนาคตจะรวบรวมข้อดี-ข้อเสียของ ว.13 และ ว.17 มารวมไว้ให้เหลือการประเมินเพื่อเข้าสู่วิทยฐานะรูปแบบเดียว.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 23 กันยายน 2558