’หั่นเนื้อหา’สอดรับ’ลดเวลาเรียน’หดชั่วโมงประถม-ม.ต้น22และ27ชม.ต่อสัปดาห์/เผย13กิจกรรมสร้างเด็ก’3H’
ศธ.เผยแผนลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ หั่นเนื้อหาที่ไม่จำเป็น หดชั่วโมงเรียนระดับประถมเรียนไม่เกิน 22 ชม./สัปดาห์ มัธยมต้นไม่เกิน 27 ชม./สัปดาห์ แต่ยันต้องไม่กระทบการทำข้อสอบโอเน็ต ส่วนกิจกรรมแบ่งเป็น 13 หมวด เน้นตอบโจทย์ "3 H" Head-Heart-Hands
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพียงแต่จะมีการปรับปรุงลดเนื้อหาส่วนที่ไม่จำเป็นในแต่ละรายวิชา และจะต้องไม่กระทบกับตัวบ่งชี้ที่ใช้ในการออกข้อสอบทั้งของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ที่จัดสอบการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 และการสอบประเมินคุณภาพการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือเอ็นที ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
ในส่วนของโครงสร้างเวลาเรียนของประถมศึกษาจากเดิมที่เรียน 1,200-1,400 ชม./ปี หรือ 30-35 ชม./สัปดาห์ เปลี่ยนเป็นเรียนไม่เกิน 1,000 ชม./ปี ซึ่งจะมีการจัดการเรียนการสอนที่อยู่ในห้องเรียน 22 ชม./สัปดาห์ และจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะผู้เรียน 8-13 ชม./สัปดาห์ และในส่วนของมัธยมศึกษาตอนต้น ที่เดิมที่เรียน 1,400 ชม./ปี หรือ 35 ชม./สัปดาห์ ปรับเป็นเรียนไม่เกิน 1,200 ชม./ปี ซึ่งจะมีการเรียนการสอนในห้องเรียน 27 ชม./สัปดาห์ และจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะผู้เรียน 8 ชม./สัปดาห์ ขณะนี้มีโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรมแล้วกว่า 2,948 โรง แบ่งเป็น สำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา (สพม.) จำนวน 32 เขต มีทั้งหมด 346 โรง สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา (สพป.) จำนวน 137 เขต มีทั้งหมด 2,602 โรง
พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวต่อว่า ในส่วนของกิจกรรมแบ่งออกเป็น 3 หมวด มีทั้งหมด 13 กิจกรรม หมวดที่ 1 คือ สร้างเสริมสมรรถนะและการเรียนรู้ มีกลุ่มกิจกรรม ได้แก่ การพัฒนาความสามารถด้านการศึกษา การพัฒนาความสามารถด้านการคิดและการพัฒนากรอบความคิดแบบเปิดกว้าง การพัฒนาความสามารถด้านการแก้ปัญหา การพัฒนาความสามารถด้านการใช้เทคโนโลยี การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ หมวดที่ 2 คือ สร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม มีกลุ่มกิจกรรม ได้แก่ ปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกการทำประโยชน์ต่อสังคม มีจิตสาธารณะ และการให้บริการด้านต่างๆ ทั้งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและต่อส่วนรวม ปลูกฝังความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม (มีวินัย ซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ อดทน มุ่งมั่นในการทำงาน กตัญญู) ปลูกฝังและสร้างภาคภูมิใจในความเป็นไทย หมวด 3 คือ สร้างเสริมทักษะการทำงาน การดำรงชีพ และทักษะชีวิต มีกลุ่มกิจกรรม ได้แก่ การตอบสนองความสนใจ ความถนัด และความต้องการของผู้เรียนตามความแตกต่างระหว่างบุคคล ฝึกการทำงาน ทักษะทางอาชีพ และอยู่อย่างพอเพียง การพัฒนาความสามารถด้านการใช้ทักษะชีวิต การเสริมสร้างสมรรถนะทางกาย
รมว.ศธ.อธิบายต่อว่า รูปแบบกิจกรรมทั้งหมดจะมีเมนูย่อยๆ ลงไปอีก และอาจจะมีเพิ่มจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นต้น ซึ่งจะหารือร่วมกันในวันที่ 28 กันยายนนี้ โดยการจัดกิจกรรมต่างๆ จะต้องตอบโจทย์ทำให้ผู้เรียนมีเฮด ฮาร์ต และแฮนด์ รู้จักใช้สมองคือ ความคิด มีหัวใจ คือจริยธรรมและทัศนคติที่ถูกที่ควร และมีมือ คือฝึกให้มีทักษะ ซึ่งแนวทางนี้สอดคล้องกับแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เน้นในเด็กต้องเรียนรู้ใน 4 ด้าน คือ พุทธิศึกษา จริยศึกษา หัตถศึกษา และพลศึกษา
"เชื่อว่าหากเด็กมีทั้งหมดนี้จะทำให้การจัดการศึกษามีความสมบูรณ์"
รมว.ศธ.กล่าว และว่า จากนี้จะมีการเร่งอบรมครูผู้สอนและจัดสมาร์ทเทรนเนอร์ 300 ทีม ไปดูแลโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ 1 ทีมต่อ 10 โรงเรียน และจะมีการประเมินการจัดการเรียนการสอนระหว่างภาคเรียน จำนวน 2 ครั้ง และหลังปิดภาคเรียนอีก 1 ครั้ง หากประสบความสำเร็จจะขยายเพิ่มไปในโรงเรียนอื่นๆ ต่อไป โดยนโยบายนี้ไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่ม เพราะ สพฐ.สามารถดำเนินการได้โดยใช้งบปกติ.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 23 กันยายน 2558
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
แนวทางการบริหารจัดการ เวลาเรียน "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้"