สกอ.จ่อประกาศใช้เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรอุดมศึกษาฉบับใหม่ ครอบคลุมทั้งระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา หวังแก้ปัญหาจุดอ่อนอาจารย์ขาดคุณสมบัติ จ้างทำผลงานหรือลอกวิทยานิพนธ์ รวมทั้งเน้นวิชาทั่วไปมากขึ้น เพื่อสร้างบัณฑิตรุ่นใหม่ให้ทันการเปลี่ยนแปลงสังคม เตรียมเสนอ "ดาว์พงษ์" อนุมัติก่อนประกาศใช้เป็นกฎกระทรวง
นายพินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (เลขาฯ กกอ.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้พิจารณาทบทวนปรับปรุงจุดที่เป็นปัญหาและมีความจำเป็นของเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี เกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา และแนวทางการบริหารเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา พ.ศ.2548 เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาให้ทันสมัยและเหมาะสมกับสถานการณ์การจัดการศึกษาในปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้ สกอ.ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือเสนอให้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พิจารณาก่อนประกาศเป็นกฎกระทรวงต่อไป
"การปรับแนวทางการบริหารเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรอุดมศึกษาจะต้องปรับปรุงจุดที่เป็นปัญหาขณะนี้ เพื่อเน้นคุณภาพของการสอน ซึ่งจะเป็นฐานของการศึกษาที่มีคุณภาพ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือจำนวนและคุณวุฒิของอาจารย์ของแต่ละมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ใหม่ และต้องเพิ่มมาตรการการกำกับดูแลการคัดลอกผลงานหรือการจ้างทำผลงานของบัณฑิตด้วย" เลขาธิการ สกอ.กล่าว
สำหรับการปรับในส่วนของเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรโดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ หลักสูตรทางวิชาการ และหลักสูตรทางวิชาชีพหรือปฏิบัติการ เพื่อตอบสนองการจัดการศึกษาในปัจจุบันที่มีความหลากหลาย รวมทั้งจะสร้างให้บัณฑิตมีความรอบรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ สามารถนำความรู้ไปใช้ในสถานการณ์จริงได้อย่างสร้างสรรค์
ในส่วนเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรีจะต้องปรับให้มีสอดคล้องกับความต้องการของสังคม เน้นให้ความสำคัญกับหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ที่จะช่วยเสริมสมรรถนะ ทักษะชีวิต ทักษะการเรียนรู้ และปรับลดจำนวนหน่วยกิตของหมวดวิชาเฉพาะ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการจัดการศึกษา รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติต่างๆ ของอาจารย์ประจำ อาจารย์ประจำหลักสูตร และอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร และเน้นความสามารถด้านการใช้ภาษาอังกฤษสำหรับอาจารย์ที่เข้าใหม่ด้วย
สำหรับเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษานั้น ต้องปรับคุณสมบัติในการทำหน้าที่ต่างๆ ให้ชัดเจน ที่สำคัญคือคุณวุฒิของอาจารย์ผู้สอนจะต้องมีความรู้ ประสบการณ์ไม่น้อยกว่าหรือเท่ากับระดับปริญญาที่สอน และจะต้องมีผลงานทางวิชาการที่ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการเรียนจบ แต่ต้องเป็นผลงานทางวิชาการที่สามารถใช้ขอตำแหน่งทางวิชาการ และได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ไม่ต่ำกว่า 3 ผลงาน ในรอบ 5 ปีย้อนหลังเป็นอย่างน้อย.
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 21 กันยายน 2558