ลูกหนี้ กยศ. ที่ไม่ชำระหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาโปรดอ่าน รองอธิบดีกรมบังคับคดี เผยวิธีการยึดทรัพย์ลูกหนี้ กยศ. โดยจะสืบทรัพย์ของผู้กู้ก่อน หากไม่มีจะนำทรัพย์ของผู้ค้ำประกันหรือพ่อแม่ ขายทอดตลาดใช้หนี้แทน
เมื่อวันที่ 17 ก.ย. นางขวัญระพี จุฬาพิมพ์พันธุ์ รองอธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยมาตรการไกล่เกลี่ยกับนักศึกษาที่กู้เงินกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ว่า ขณะนี้กยศ.ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือ หรือ เอ็มโอยู กับกรมบังคับคดีที่จะจัดไกล่เกลี่ยในชั้นบังคับคดี โดยให้กับกยศ.ในฐานะเจ้าหนี้ และนักศึกษาที่เป็นผู้กู้ในฐานะลูกหนี้ ปัจจุบันมีคดีที่กยศ. ฟ้องลูกหนี้แล้วศาลพิพากษาออกหมายบังคับคดี ตั้งแต่ปี 48-58 ปัจจุบัน รวม 26,149 ราย เป็นวงเงิน 3,250 ล้านบาท โดยกลุ่มนี้มี400 ราย เข้าไกล่เกลี่ยในชั้นบังคับคดีแล้ววงเงินรวม 46 ล้านบาท ซึ่งกรมบังคับคดีจะร่วมกับกยศ. จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. นี้
อย่างไรก็ตามตามระเบียบกยศ. จะไม่ไกล่เกลี่ยกับลูกหนี้รายที่เหลืออายุความน้อยกว่า3 ปี
สำหรับกรณีลูกหนี้กยศ.ที่ถูกฟ้องยึดทรัพย์นั้น กรมบังคับคดีมีหน้าที่ดำเนินการตามคำสั่งศาล โดยกรมบังคับคดีเข้ายึดทรัพย์ลูกหนี้กยศ.แล้วกว่า1,020 ราย รวมทุนทรัพย์ 49 ล้านบาท โดยการยึดทรัพย์ กยศ. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ จะเป็นผู้นำสืบทรัพย์ของนักศึกษา หากไม่มี จะสืบทรัพย์ของผู้ค้ำประกันหรือพ่อแม่ และยึดทรัพย์ ซึ่งได้แก่ ที่ดิน บ้านรถ แล้วขายทอดตลาด หักจำนวนหนี้ ดอกเบี้ย และค่าดำเนินการขายทอดตลาด หากมีเงินเหลือจากยอดหนี้ จึงจะคืนเงินให้เจ้าของทรัพย์ต่อไป
"นักศึกษารายใดที่ยังค้างชำระหนี้กยศ. ขอให้ติดต่อกยศ. หรือกรมบังคับคดี และให้เข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยผ่อนชำระหนี้ ดีกว่าให้คดีจะไปสู่การยึดทรัพย์ตามคำสั่งศาล อย่างไรก็ตาม สำหรับการไกล่เกลี่ยทำได้ 2 ช่วง คือก่อนฟ้องร้องดำเนินคดี และฟ้องแล้วศาลสั่งบังคับคดี ส่วนกรณีที่กยศ. จะไม่เจรจาไกล่เกลี่ยแล้ว คือ ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ซึ่งเกี่ยวข้องกับอายุความในการฟ้องซึ่งเจ้าหนี้ ซึ่งจะต้องฟ้องในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด"รองอธิบดีกรมบังคับคดี กล่าว
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 17 กันยายน 2558