"กมล" แจงสพฐ.ของบฯกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 4พันล้านบาท ให้ทุกโรงเรียนทั้งประเทศซ่อมแซมตามนโยบายรัฐบาล ให้เกิดการจ้างงานอย่างทั่วถึง
วันนี้ (15ก.ย.) ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ (สพท.) เพื่อให้จัดส่งรายละเอียดการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ พ.ศ.2558 ตามมาตรการกระตุ้นการลงทุน เพื่อการซ่อมแซมปรับปรุงโรงเรียนทั่วประเทศ ทั้ง 30,816 โรง ว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ต้องการให้เงินลงไปสู่พื้นที่ ซึ่งทำในลักษณะให้เงินก้อนแก่โรงเรียนตามขนาดของโรงเรียนเพื่อดำเนินการใน 6รายการ ดังนี้
1.ปรับปรุงซ่อมแซมห้องเรียน
2.ปรับปรุงซ่อมแซมห้องพิเศษ ได้แก่ห้องสมุด ห้องดนตรี ห้องคอมพิวเตอร์ห้องวิทยาศาสตร์ ห้องศิลปะห้องคหกรรม ห้องโสตทัศนูปกรณ์เป็นต้น
3.ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียนอาคารประกอบ
4.ปรับปรุงซ่อมแซมสภาพแวดล้อมและบรรยากาศภายในโรงเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้
5.ปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพักครูและ6.ปรับปรุงซ่อมแซมสนามรั้วและอื่น ๆ
โดยกรอบวงเงิน มีดังนี้
1.โรงเรียนที่มีนักเรียนไม่เกิน120 คน จัดสรร 100,000 บาท
2.โรงเรียนที่มีนักเรียน121-499 คน จัดสรร 150,000 บาท
3.โรงเรียนที่มีนักเรียน 500-2,499 คน จัดสรร 200,000 บาท และ
4.โรงเรียนที่มีนักเรียน 2,500คน ขึ้นไป จัดสรร 300,000 บาท
ทั้งนี้ โรงเรียนจะไม่สามารถนำเงินไปทำอะไรนอกเหนือจาก 6 รายการนี้ ได้เพราะเจตนาของโครงการนี้ เพื่อให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่และเป็นโครงการเร่งด่วนที่ต้องเร่งจัดเสนอ โดยจากการทำรายการเสนอขึ้นมาเป็นวงเงินงบประมาณกว่า 4,000 ล้านบาท แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่ารัฐบาลจะอนุมัติให้ตามที่เสนอขอหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า โครงการนี้จะซ้ำซ้อนกับการใช้งบฯปกติที่มีการจัดสรรงบฯให้แก่โรงเรียนหรือไม่ ดร.กมล กล่าวว่า เนื่องจากโครงการนี้เป็นโครงการเร่งด่วนหากจะให้สำรวจว่าโรงเรียนทำโครงการอะไรไปแล้วบ้างคงไม่ทัน จึงเสนอให้จัดสรรเงินเป็นก้อนลงไปแล้วให้โรงเรียนไปจัดสรรว่า จะปรับปรุงในรายการใด แต่ห้ามนำไปดำเนินการนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ เช่น จัดอบรมพัฒนาครู เป็นต้น เพราะเป้าหมายสำคัญ คือ กระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ และให้เกิดการจ้างงาน
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวอีกว่า ส่วนที่ สพฐ.เคยได้รับงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อใช้สำหรับสร้างอาคารเรียน1,000กว่าหลัง ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้วนั้นปรากฎว่ายังมีโรงเรียนที่ขาดแคลนห้องเรียนพิเศษ หรือ อุปกรณ์การเรียนการสอนอยู่ สพฐ.ก็ได้ใช้งบฯเหลือจ่ายที่มีอยู่ดูแลไปเกือบหมดแล้ว และขณะนี้ สพฐ.ยังมีเงินเหลือจ่ายอีกกว่า200 ล้านบาท ก็จะนำไปดูแลโรงเรียนที่ค้างชำระค่าสาธารณูปโภคต่อไป“
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 15 กันยายน 2558