สพฐ.สั่งเขตพื้นที่ฯทำรายละเอียดของบฯซ่อมแซมโรงเรียน สนองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดใช้งบฯกว่า 4,000 ล้านถ้าขอทั้ง 3หมื่นกว่าโรงทั้งประเทศวันนี้
วันนี้ (14 ก.ย.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อกระจายเม็ดเงินไปสู่พื้นที่นั้นในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ตนได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปทำเรื่องขอใช้เงินตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว เนื่องจาก สพฐ.มีการส่งเงินเหลือจ่ายคืนคลังประมาณกว่า 2,400 ล้านบาท จึงให้ทำเรื่องขอเงินดังกล่าวกลับมาใช้ในการซ่อมแซมอาคารเรียน โดยให้รวบรวมรายชื่อโรงเรียนเสนอขึ้นมาภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อจะได้กระจายเม็ดเงินลงไปและทำให้เกิดการจ้างงานต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สพฐ.ได้มีหนังสือที่ ศธ. 040062 ว 1614 ไปถึง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทุกเขตลงนาม โดย นายอนุสรณ์ ฟูเจริญรองเลขาธิการปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) โดยเนื้อหาหนังสือระบุว่า รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน และส่งเสริมให้มีการลงทุนทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด โดยให้ส่วนราชการจัดทำคำขอรับการจัดสรรงบประมาณเสนอให้รองนายกรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบ หรือ รัฐมนตรีที่กำกับพิจารณาให้ความเห็นชอบ และ ส่งให้สำนักงบประมาณ สพฐ.จึงขอให้ สพท.ส่งรายละเอียดการขอรับการสนับสนุนงบประมาณพ.ศ.2558 งบลงทุน รายการค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้างตามมาตรการกระตุ้นการลงทุน โดยจัดเรียงลำดับความสำคัญ ดังนี้
1.ปรับปรุงซ่อมแซมห้องเรียน
2.ปรับปรุงซ่อมแซมห้องพิเศษได้แก่ ห้องสมุด ห้องดนตรีห้องคอมพิวเตอร์ ห้องวิทยาศาสตร์ห้องศิลปะ ห้องคหกรรมห้องโสตทัศนูปกรณ์ เป็นต้น
3.ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียนอาคารประกอบ 4.ปรับปรุงซ่อมแซมสภาพแวดล้อมและบรรยากาศภายในโรงเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้
5.ปรับปรุงซ่อมแซมบ้านพักครู
6.ปรับปรุงซ่อมแซมสนามรั้วและอื่น ๆ
โดยกรอบวงเงินมี ดังนี้
1.โรงเรียนที่มีนักเรียนไม่เกิน 120 คน จัดสรร 100,000 บาท
2.โรงเรียนที่มีนักเรียน121-499 คน จัดสรร 150,000 บาท
3.โรงเรียนที่มีนักเรียน 500-2,499 คน จัดสรร200,000 บาท และ
4.โรงเรียนที่มีนักเรียน2,500 คน ขึ้นไปจัดสรร 300,000 บาท
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับโรงเรียนที่มีนักเรียนเกิน120 คน ปัจจุบันมีจำนวน15,577 โรง โรงเรียนที่มีนักเรียน121-499 คน มี 12,648 โรง โรงเรียนที่มีนักเรียน 500-2,499 คน มี 2,289 โรง และ โรงเรียนที่มีนักเรียนตั้งแต่ 2,500 คนขึ้นไปมี 302 โรง หากได้รับการจัดสรรทุกโรงจะต้องใช้งบประมาณกว่า4,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า สพฐ.ได้จัดสรรงบฯซ่อมแซมให้แก่โรงเรียนเป็นปกติอยู่แล้ว เนื่องจากรัฐบาลไม่มีนโยบายให้โรงเรียนสร้างอาคารเพิ่ม ดังนั้น โรงเรียนที่ได้รับการจัดสรรแล้วอาจจะไม่ขอรับงบฯซ่อมแซมตามข้อ1-5 แต่ไปเสนอตามข้อ 6 ที่เปิดกว้างให้ปรับปรุงซ่อมแซมในส่วนอื่นๆ ได้“
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 14 กันยายน 2558