นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ปีงบประมาณ 2558 รัฐบาลจัดสรรงบประมาณค่ารักษาพยาบาลไว้ทั้งสิ้น 60,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเกินเป้าหมายประมาณ 3,000 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลจัดสรรวงเงินไว้ 60,000 ล้านบาทเท่าเดิม แต่จะมีการคุมเข้มการเบิกจ่ายมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกินวงเงินที่ตั้งไว้
สำหรับมาตรการคุมเข้มการเบิกจ่ายงบรักษาพยาบาล เช่น การกำหนดรายการตรวจสุขภาพประจำปี จะมีการยกเลิกรายการที่ไม่จำเป็น เช่น การเอกซเรย์ปอด พบว่าส่วนใหญ่จะตรวจปีละ 2 ครั้ง ซึ่งเกินความจำเป็น ต่อไปควรตรวจเมื่อเห็นว่ามีอาการหรือต้องเข้ารับการรักษาเท่านั้น โดยจะเอางบที่ประหยัดจากส่วนนี้ไปเพิ่มส่วนของการรักษาพยาบาลฉุกเฉินแทน
“การเบิกงบรักษาพยาบาลจะไปกระจุกตัวในช่วงของข้าราชการที่เกษียณอายุราชการมากกว่ากลุ่มอายุ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งมีแนวโน้มจะใช้งบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงมีแนวคิดจะดึงบริษัทเอกชนมารับประกันสุขภาพ เช่น ทิพยประกันภัย แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุป” นายมนัส กล่าว
นายมนัส กล่าวถึง พ.ร.บ.ทุนหมุนเวียน ว่าได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว ขณะนี้รอให้มีผล 180 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อต้องการคุมเข้มการดำเนินกิจการกองทุนหมุนเวียนตามส่วนราชการต่างๆ โดยมีเงินทุนหมุนเวียนในระบบประมาณ 300,000-400,000 ล้านบาท/ปี ขณะนี้มีการนำส่งสภาพคล่องส่วนเกินสะสมเข้าคลัง 17,727 ล้านบาท จากทั้งหมด 113 กองทุน เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ด้านอื่น จากเป้าหมายทั้งหมด 28,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือคาดว่าจะนำส่งได้ตามเป้าหมาย เพื่อให้กองทุนหมุนเวียนใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับกองทุนหมุนเวียนที่นำส่งรายได้มากสุด เช่น กองทุนน้ำบาดาล จำนวน 4,000 ล้านบาท กองทุนผลิตเหรียญกษาปณ์ ประมาณ 3,000 ล้านบาท กองทุนแผ่นป้ายทะเบียน 2,000 ล้านบาท ที่ผ่านมายุบกองทุนไปแล้ว 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนฟอกหนัง กองทุนข่าวสารของกระทรวงพาณิชย์ กองทุนพลังงานของกระทรวงพลังงาน หลังจากแต่งตั้งตัวแทนจากกรมบัญชีกลาง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงบประมาณ เป็นกรรมการในกองทุนต่างๆ จึงทำให้กองทุนหมุนเวียนของส่วนราชการเบิกจ่ายและใช้ประโยชน์ตามภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ที่มา : สำนักข่าวไทย และ ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 13 กันยายน 2558