ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดี แห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หารือกับ ทปอ.กรณีที่ ศธ.มีการปรับลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ โดยให้เลิกเรียนวิชาการเวลา 14.00 น. และให้เรียนกิจกรรมต่อจนถึงเวลาเลิกเรียนว่า ทปอ.ต้องขอดูก่อนว่านโยบายลดเวลาเรียนของ ศธ.จะปรับลดความเข้มข้นของเนื้อหาทางวิชาการมากน้อยแค่ไหน และ ลดเนื้อหาตรงส่วนใดบ้าง โดยเฉพาะระดับ ม.ปลาย ที่ส่งต่อเด็กเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัย เพื่อ ทปอ.จะ ได้ไปปรับลดเนื้อหาส่วนที่เด็กไม่ได้เรียนออก จากการทดสอบความถนัดทั่วไป(แกต) และการทดสอบทางวิชาการ/วิชาชีพ(แพต) เพื่อให้การทดสอบสอดคล้อง กับการเรียนในห้องเรียน ไม่ใช่ว่าออกข้อสอบในส่วนที่เด็กไม่ได้เรียน จะทำให้เด็กต้องไปกวดวิชาเพื่อมา สอบเพิ่ม
"เรื่องนี้ต้องพูดคุยกันว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะลดเนื้อหาในส่วนใดไปบ้าง เร็วๆ นี้ ทปอ.จะขอเข้าพบรมว.ศึกษาธิการเพื่อรับนโยบาย และจะไปหารือในที่ประชุมทปอ. เพื่อจะดูว่าต้องตัดเนื้อหาใดบ้างให้สอดคล้องกับการเรียนในห้องเรียน เพราะหากข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยออกนอกเหนือ เนื้อหาที่เรียนเด็กก็จะมุ่งไปกวดวิชา ส่วนการใช้ คะแนนโอเน็ตคงไม่ปรับเพิ่ม เพราะปัจจุบัน ทปอ. ใช้คะแนนที่มาจากการเรียนในห้องเรียนเป็นองค์ประกอบในการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยในสัดส่วน ที่สูงถึง 50% แบ่งเป็นโอเน็ต 30% และคะแนน เฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร ม.ปลาย หรือ จีแพ็กซ์อีก 20% ดังนั้นจึงคิดว่าคงไม่เพิ่มอีก" ศ.ดร.ประสาท กล่าว
ด้าน ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมาการปฏิรูปการศึกษาไม่ประสบความสำเร็จ เป็นเพราะคอขวดทางการศึกษาในการรับคนเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา ซึ่งไม่ว่าเราจะปรับหลักสูตร หรือลดเวลาเรียน หากระดับอุดมศึกษาไม่รับลูกด้วย สิ่งที่ทำก็ไม่สำเร็จ ดังนั้นทปอ.จะต้องหารือกับมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง โดยนำข้อสอบอัตนัยมาใช้ในการสอบคัดเลือก และการหารือของ ทปอ.ก็ไม่ควรทำแค่การขอความร่วมมือ แต่ต้องมีการลงมือปฏิบัติ มีการติดตามประเมินผล และให้คำสัญญากับสังคมว่าจะปฏิบัติอย่างไรบ้าง
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก