รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมสัมมนาคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) ภาคใต้ ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมี พล.อ.ดาว์พงศ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า
การปรับหลักเกณฑ์และวิธีการ ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน หรือ PA (Performance Agreement) ว7/2558 ใช้ประกอบการเข้าสู่วิทยฐานะ ซึ่งเดิมผู้เข้ารับการประเมิน จะต้องผ่าน 2 ขั้นตอน คือการสอบวัดความรู้ตาม 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์ และขั้นตอนที่2 ดูผลงานทางวิชาการ ซึ่งวัดจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ซึ่งในขั้นตอนการสอบนั้น ส่วนตนเห็นว่าไม่น่าจะมีการสอบ เพราะการสอบเป็นทางเลือกหนึ่งเท่านั้น ถ้าครูมัวแต่วิ่งสอบไม่สนใจในห้องเรียน คนที่ได้รับผลกระทบคือนักเรียน
"ผมได้มอบหมายให้คณะทำงานไปดูในหลายมิติ ที่สามารถเข้าสู่ PA ได้ และผู้ที่ได้รับประโยชน์ จะต้องเป็นนักเรียน ถ้าสามารถหากลไกที่พิสูจน์ได้ว่า ผู้ที่ควรจะได้รับพิจารณา PA สามารถจะสะท้อนคุณภาพนักเรียนได้ก็ควรจะเปิดกว้าง เช่น ครูที่สอนในโรงเรียนมาเป็นเวลานาน และเป็นที่ยอมรับของนักเรียน ก็น่าจะมีโอกาสขอปรับวิทยฐานะได้โดยไม่ต้องสอบ เพราะบุคคลเหล่านี้อาจเป็นครูเก่า ที่ไม่มีเก่งในเรื่องเอกสาร แต่มีการปฏิบัติเป็นเลิศ ก็น่าจะได้รับการพิจารณา เพราะการสอบไม่ได้สะท้อนถึงความสามรรถดังกล่าวได้"
รศ.นพ.กำจร กล่าวและว่า ในส่วนการประเมินตาม ว.13 และ ว.17 เป็นการให้รางวัลที่ ก.ค.ศ.รับรอง เพื่อขอปรับวิทยฐานะนั้น ได้พิจารณารวมไว้ใน ว.7 ด้วย อาจจะหลอมรวมเข้าด้วยกัน และในอนาคตต้องกลับไปดูผลงานเชิงประจักษ์ด้วยว่าควรมีลักษณะอย่างไร ซึ่งตนเสนอไปว่า ควรจะวัดจากนักเรียนไม่ใช่วัดจากครู เช่น นักเรียนสอบเรียนต่อได้หมด ค่าเฉลี่ยO-NET สูงขึ้น ได้รับรางวัลแข่งขันต่าง ๆเป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นการสะท้อนถึงการเรียนการสอนของครูอย่างแท้จริง
ที่มา สยามรัฐ วันที่ 14 กันยายน 2558