ผลิตใช้และพัฒนาครูอย่างไร จึงจะนำไปสู่การเพิ่มคุณภาพผู้เรียน
ดิเรก พรสีมา
อดีตประธานกรรมการคุรุสภา
ระหว่างวันที่ 9-10 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เข้าร่วมประชุมปฏิบัติการเกี่ยวกับการผลิต การใช้ และการพัฒนาครูเพื่อเพิ่มคุณภาพผู้เรียนที่ยูเนสโกเป็นผู้จัดที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในที่ประชุม ธนาคารโลกได้เผยแพร่ผลการวิจัยเกี่ยวกับการผลิต การใช้ และการพัฒนาครูที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ภายใต้โครงการที่เรียกว่า SABER (Systematic Approach for Better Education Result) ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่ธนาคารได้ทำการวิจัยระหว่างปี 2554-2555
SABER รวบรวมข้อมูลเป้าหมายเชิงนโยบาย (Policy Goals) เกี่ยวกับการผลิต การใช้ และการพัฒนาครูใน 13 ประเด็น ได้แก่
(1) ระบบการศึกษาของประเทศ
(2) กฎหมาย กฎ และระเบียบ ประกาศที่เกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพครู
(3) การผลิตครู
(4) การบรรจุและแต่งตั้งครู
(5) ภารกิจ บทบาท และอำนาจหน้าที่ของครู
(6) การพัฒนาครู
(7) เงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการครู
(8) การเกษียณอายุ บำนาญและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นของครู
(9) การติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของครู
(10) สหภาพ สมาคม และสมาพันธ์ครู
(11) ภาวะผู้นำในโรงเรียน
(12) ข้อมูลเชิงปริมาณเกี่ยวกับครู และ
(13) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน
ในการวิจัย ธนาคารได้รวบรวมข้อมูลจาก 64 ประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้รวมสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น นครเซี่ยงไฮ้ มลรัฐนิวยอร์ก แคว้นออนทาริโอ ฟินแลนด์ และสวีเดน ซึ่งถือเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จสูงทางการศึกษารวมอยู่ด้วย
ผลการวิจัยพบว่าเป้าหมายเชิงนโยบายที่มีอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอย่างมีนัยสำคัญของทั้ง 64 ประเทศมี 8 เป้าหมายคือ
1) การกำหนดบทบาทภารกิจของครูให้ชัดเจน - setting clear expectations for teachers
2) ดึงดูดคนที่มีคุณภาพสูงสุดมาเป็นครู - attracting the best into teaching
3) ให้ความรู้และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่แก่นักศึกษาครู - preparing teachers with useful training and experience
4) ให้นักเรียนได้เรียนรู้จากครูที่มีความรู้และทักษะในการถ่ายทอดสูง - matching teachers' skills with students' needs
5) ให้บุคคลมีภาวะผู้นำสูงเป็นผู้บริหารโรงเรียน - leading teachers with strong principal
6) ติดตามผลการสอนและการเรียนรู้ของผู้เรียน - monitoring teaching and learning
7) สนับสนุนให้ครูปรับปรุงการเรียนการสอนของตน- supporting teachers to improve instruction,
และ 8) จูงใจให้ครูปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ ทุ่มเท และเสียสละ - motivating teachers to perform
ในการวิเคราะห์ข้อมูล ธนาคารได้แบ่งระดับการปฏิบัติตามเป้าหมายเชิงนโยบายในแต่ละเรื่องออกเป็น 4 ระดับ คือ ระดับที่มีการดำเนินการตามสูงสุด มีการศึกษา วิเคราะห์ เรียนรู้ และปรับปรุงการดำเนินการอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เรียกว่าระดับ "ก้าวหน้า-Advanced" ระดับการดำเนินการขั้นรองลงมาเป็นระดับที่มีการกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจน มีกฎหมาย มีระเบียบและคู่มือการดำเนินการในแต่ละเรื่องให้ครูปฏิบัติตาม และครูก็ปฏิบัติตามอย่างแพร่หลายและกว้างขวาง เขาเรียกระดับนี้ว่าระดับ "ปฏิบัติตามอย่างเป็นระบบ-Established" ระดับรองลงมาอีกเป็นระดับที่มีการพูดคุย สัมมนา แลกเปลี่ยนความเห็นในเป้าหมายเชิงนโยบายทั้ง 8 เป้าหมายอย่างกว้างขวางแต่ยังไม่ถึงขั้น Established เขาเรียกระดับนี้ว่า "เริ่มต้น เสวนาและแลกเปลี่ยนความเห็น-Emerging" ส่วนระดับการปฏิบัติตามต่ำสุดหรือไม่มีการปฏิบัติตามเลยเรียกว่า "ยังไม่มีการดำเนินการ-Latent"
ธนาคารพบว่าประเทศสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฟินแลนด์ สวีเดน มลรัฐนิวยอร์ก แคว้นออนทาริโอของแคนาดา นครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นประเทศ มลรัฐ แคว้น หรือนครที่มีคะแนน PISA สูงมีการดำเนินการในทั้ง 8 เป้าหมายในระดับ "Advanced" ทั้งสิ้น และยังพบต่อไปอีกว่าคะแนน PISA และ/หรือคะแนนทดสอบระดับประเทศของประเทศที่เหลือที่เข้าร่วมโครงการก็สัมพันธ์โดยตรงกับระดับการดำเนินการหรือระดับการปฏิบัติตามเป้าหมายเชิงนโยบายทั้ง 8
ส่วนปัจจัยอื่นมีอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระดับต่ำ
ข้อค้นพบข้างต้นให้บทเรียนอะไรแก่พวกเรา ถ้าเราอยากเห็นคนไทยมีคุณภาพสูงขึ้นเราควรจะใช้ทรัพยากรทางการบริหารที่เรามีอยู่ค่อนข้างจำกัดไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Man, Money, Material, Management Knowledge, Minute (5Ms) ไปกับเรื่องอะไรก่อนหรือหลัง เราจึงจะเพิ่มคุณภาพของคนไทยให้สามารถแข่งขันกับคนสิงคโปร์ เกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่นได้
มองไปที่เรื่องของการผลิตครู ถ้าเราดึงดูดคนคุณภาพสูงสุดมาเป็นครูเราแทบไม่ต้องใช้งบประมาณอะไรก็สามารถทำได้ เพียงแต่ให้หลักประกันการมีงานทำของบัณฑิตครู เราก็สามารถดึงดูดคนเก่งที่สุดมาเรียนครูได้ หรือถ้าจะให้สถาบันผลิตครูให้ความรู้และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์และสัมพันธ์กับการทำหน้าที่ครูของนักศึกษาครูก็อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ไม่ยาก เพียงแต่ให้นักศึกษาครูใช้เวลาเรียนความเป็นครูในห้องเรียนในโรงเรียนขั้นพื้นฐานหรือสถานศึกษาที่เขาจะออกไปประกอบอาชีพเป็นหลักเมื่อสำเร็จการศึกษาเหมือนกับนักศึกษาแพทย์ที่ใช้เตียงคนไข้เป็นสถานที่หลักในการเรียนก็จะทำให้ครูได้ความรู้และประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์กับการทำหน้าที่ครู
ในเรื่องของการใช้ครู การกำหนดบทบาท ภารกิจของครูให้ชัดเจนว่าในแต่ละวันครูต้องใช้เวลาไปกับการทำงานเรื่องอะไรในสัดส่วนเท่าใดก็สามารถกระทำได้ไม่ยาก เพียงแต่ตัดหน้าที่ "อื่นๆ ตามที่ผู้บังคับบัญชา มอบหมาย" ซึ่งเป็นงานที่ครูเสียเวลามากที่สุดแต่ส่งผลต่อการพัฒนาผู้เรียนน้อยที่สุดออกไปเสีย ก็จะทำให้ครูมีเวลาอยู่กับนักเรียน (Student Engagement) มากขึ้น นักเรียนจะมีเวลาเรียนจากครูมากขึ้น
ณ วันนี้เราอาจจัดให้นักเรียนเรียนจากครูที่ฝึกมาเพื่อสอนวิชานั้นได้ไม่ทั้งหมด ถ้าพยายาม กำหนดเป็นเป้าหมายเชิงนโยบาย ให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาหรือสถานศึกษารับไปปฏิบัติ ให้สถานศึกษาบรรจุครูใหม่ตามความต้องการของนักเรียนและโรงเรียน ใครไม่ทำตามโดยไม่มีเหตุผลอันควรก็ใช้มาตรา 44 สั่งแทนเสีย ผู้เขียนเชื่อว่าสักวันหนึ่งก็จะแก้ปัญหาได้
การคัดเลือกบุคคลผู้มีภาวะผู้นำและความสามารถในการบริหารสูงๆ มาเป็นผู้บริหารโรงเรียนก็ย่อมสามารถทำได้ แม้ว่าการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอาจกระทบกระเทือนสิทธิของผู้บริหารที่ด้อยความสามารถและขาดภาวะผู้นำที่อยู่ในตำแหน่ง ณ เวลาปัจจุบันอยู่บ้าง แต่การให้โอกาสและสร้างเป็นเงื่อนไขว่าเขาจะต้องพัฒนาตนเอง เมื่อไม่สามารถทำตามได้สำเร็จก็ย่อมจะประเมินให้พ้นจากตำแหน่งได้
การติดตามผลการสอนของครูและการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างเป็นระบบก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม นำงบประมาณ ระบบ ICT และบุคลากรที่มีอยู่มาทำหน้าที่ในส่วนนี้ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้
การจูงใจให้ครูปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ ทุ่มเท และเสียสละแม้ว่าจะไม่สามารถทำได้ในเร็ววัน แต่การมอบหมายให้ครูได้ทำงานที่เขาชอบ มีโอกาสประสบความสำเร็จ ให้ความเป็นธรรมแก่ครูทุกคน โดยเฉพาะครูโรงเรียนขนาดเล็ก ด้อยโอกาส ให้เขามีโอกาสได้เลื่อนเงินเดือนตามปริมาณงานที่เขาทำสำเร็จและรับผิดชอบ มีโอกาสก้าวหน้า ประเมินความสำเร็จเพื่อเลื่อนชั้นเลื่อนตำแหน่งจากงานที่เขาปฏิบัติได้สำเร็จมากกว่าการประเมินกระดาษ
สิ่งเหล่านี้ถ้าได้มีการปรับปรุง แต่งตั้งผู้บริหารโรงเรียนที่มีความสามารถทางการบริหารและภาวะผู้นำสูงๆ ไปบริหาร ก็จะทำให้ครูมีแรงจูงใจในการทำงานสูงขึ้นได้
ส่วนการพัฒนาครู ถ้าเราส่งเสริมให้มีการพัฒนาครูโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน สนับสนุนให้มีชุมชนวิชาการของครูแต่ละวิชา แต่ละช่วงชั้นในระดับตำบลหรือระดับอำเภอ ให้ครูได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำแผนการสอน ทำสื่อการสอน ทำข้อสอบ ฯลฯ ด้วยกัน เขาก็จะปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนของเขาได้
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่าง ยังมีอีกหลายอย่างหลายเรื่องที่เราสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายเชิงนโยบายทั้ง 8 ได้ภายใต้ทรัพยากรทางการบริหาร (5Ms) ที่เรามีอยู่ค่อนข้างจำกัด
เห็นคนที่มีหน้าที่ปฏิรูปการศึกษาในวันนี้คุยกันแล้ว รู้สึกไม่สบายใจ ไปคุยกันแต่เรื่องจะตั้งองค์กรโน้น องค์กรนี้ เพิ่มกรมเพิ่มกอง เพิ่มตำแหน่ง เปลี่ยนองค์ประกอบของกรรมการหรืออนุกรรมการ เพิ่มคน เพิ่มงบประมาณ ศึกษาวิจัย จ้างผู้เชี่ยวชาญ อบรม PBL, BBL, PLC, CL, SEL, BD, AL, IL, EIS, 21st Century Skills, โรงเรียนต้นแบบ โรงเรียนวิถีพุทธ ซื้อคอมพิวเตอร์พกพา ซื้อสื่อ สร้างอาคาร ทำสนามฟุตซอล ทำห้องเรียนอาเซียน ฯลฯ
แต่ในที่สุดก็ไปจบแค่ระดับ "Emerging" ไปไม่ถึง ระดับ "Established" หรือ "Advanced" ที่จะส่งผล ต่อการเพิ่มคุณภาพผู้เรียนสักที แล้วเราจะเพิ่มคุณภาพผู้เรียนได้อย่างไรครับ
"ถ้าเราอยากเห็นคนไทยมีคุณภาพสูงขึ้นเราควรจะใช้ทรัพยากรทางการบริหารที่เรามีอยู่ค่อนข้างจำกัดไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Man, Money, Material, Management Knowledge, Minute (5Ms) ไปกับเรื่องอะไรก่อนหรือหลัง เราจึงจะเพิ่มคุณภาพของคนไทยให้สามารถแข่งขันกับคนสิงคโปร์ เกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่นได้"
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 9 ก.ย. 2558 (กรอบบ่าย)