สทศ.เดินหน้าจัดสอบโอเน็ตด้วยข้อสอบอัตนัย ประเดิม ชั้น ป.6 วิชาภาษาไทย ปีการศึกษา 59 นำร่องคะแนน 20% ย้ำถ้าได้ผลขยายไปวิชาและชั้นอื่นด้วย
วันนี้( 7 ก.ย.) ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ( สทศ.)นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) ได้หารือร่วมกับรศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ. สทศ.เกี่ยวกับการจัดสอบและประเมินผลต่าง ๆ ของ สทศ. โดย นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า จากการหารือและรับฟังรายงานทำให้ทราบว่า ข้อสอบที่ออกโดย สทศ.มีมาตรฐานพอสมควร ขณะที่ผลการประเมินต่าง ๆ ที่ออกมาก็ชี้ให้เห็นว่าเด็กไทยยังมีปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดไม่เป็น ดังนั้นตนจึงมีนโยบายให้ สทศ.ปรับข้อสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต โดยให้เพิ่มข้อสอบแบบอัตนัยมากขึ้น เพราะข้อสอบอัตนัยสามารถวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของเด็กได้ ทั้งนี้จะให้เริ่มใช้ในการสอบโอเน็ต ปีการศึกษา 2559 ซึ่งจะจัดในช่วงต้นปีพ.ศ.2560 โดยจะนำร่องสอบระดับประถมศึกษาก่อน คือ ชั้น ป.6 ในวิชาภาษาไทย โดยมีสัดส่วนคะแนนอัตนัยไม่เกิน 20% ของคะแนนเต็ม
“ที่ผ่านมา สทศ.มักจะตกเป็นจำเลยของสังคม และถูกร้องเรียนมาตลอดว่า ข้อสอบไม่มีมาตรฐาน และไม่ยุติธรรม แต่ผมเห็นว่า สทศ.จะต้องจัดสอบทดสอบต่อไป เพราะเป็นสถาบันทดสอบระดับชาติ เพียงแต่ต้องปรับข้อสอบให้สามารถวัดผลประเมินผลได้ตามความสามารถที่แท้จริงของเด็ก โดยหวังว่าการปรับข้อสอบโอเน็ตเป็นแบบอัตนัยจะทำให้โรงเรียนและทุกภาคส่วนต้องปรับวิธีการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการทดสอบด้วย ซึ่งยอมรับว่าอาจต้องใช้เวลาพอสมควร”นพ.ธีระเกียรติกล่าวและว่า ส่วนที่ให้เริ่มใช้ข้อสอบอัตนัยวิชาภาษาไทยกับเด็ก ป.6ก่อน เพราะต้องการแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ คิดวิเคราะห์ไม่เป็น ส่วนที่ยังไม่ใช้กับเด็กระดับมัธยมศึกษา หรือนำมาใช้ในข้อสอบเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา เพราะเด็กอาจจะยังไม่คุ้นเคย ซึ่งอาจเกิดความไม่เป็นธรรมและเกิดผลกระทบได้ อย่างไรก็ตามในอนาคตหากการใช้ข้อสอบอัตนัยเกิดผลไปในทิศทางที่ดี ก็จะทยอยเพิ่มสัดส่วนคะแนน และขยายการสอบไปในรายวิชาและระดับชั้นอื่นเพิ่มขึ้น
ต่อข้อถามหากใช้ข้อสอบอัตนัยสังคมจะเกิดความกังวลไม่ได้รับความเป็นธรรมในการตรวจสอบนั้นนพ.ธีระเกียรติกล่าวว่า จากนี้ไป สทศ.ต้องไปพัฒนาข้อสอบและผู้ตรวจข้อสอบให้มีมาตรฐาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ขณะเดียวกันโรงเรียนก็ต้องพัฒนาการเรียนการสอน และการประเมินผลผลต่าง ๆ ด้วย เพื่อให้การจัดการศึกษามีคุณภาพ
ด้าน รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวว่าข้อสอบอัตนัยที่จะใช้จะให้เด็กเขียนตอบสั้น ๆแต่สามารถวัดถึงการคิดวิเคราะห์ของเด็กได้ซึ่ง สทศ.จะต้องไปศึกษาและทำวิจัย เพื่อมารองรับการปรับข้อสอบ และเตรียมความพร้อมผู้ออกข้อสอบด้วย
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 7 กันยายน 2558