"ดาว์พงษ์" กำชับ ผอ.เขตพื้นที่ฯ นโยบายลดเวลาเรียนเป็นภารกิจเร่งด่วน ไม่หวังร.ร.ไม่ครบตามเป้า 10% เน้นที่เต็มใจ สั่งห้ามสพฐ.บังคับเด็ดขาด ด้าน "กมล" เตรียมส่งรูปแบบกิจกรรม 9 ก.ย.นี้
เมื่อวันที่ 7 กันยายน ที่โรงแรมดวงจิต รีสอร์ท แอนด์ สปา จ.ภูเก็ต พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการประชุมและมอบนโยบายผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศตอนหนึ่งว่า อยากให้ ทุกเขตพื้นที่ฯ ทำความเข้าใจกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และนโยบายรัฐบาลให้ถ่องแท้ เพื่อถ่ายทอดไปสู่โรงเรียนให้เกิดการ ปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการจัดการศึกษาให้เด็กมีความสุข ครูมีความสุข และผู้ปกครองมี ความสุข
ส่วนที่ ศธ.ประกาศนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ถือเป็นภารกิจหลักที่ทุกเขตพื้นที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ซึ่งเมื่อลดเวลาลงชั่วโมงเรียนจะต้องลดลงด้วย ดังนั้น สพฐ.จะต้องไปหากิจกรรมที่ส่งเสริมทักษะผู้เรียน เนื่องจากผู้ปกครองมีความกังวลว่า เมื่อลดเวลาเรียนจะทำให้บุตร หลานของตนเองเรียนไม่เต็มที่ไม่สามารถแข่งขันในการสอบได้ ดังนั้นกิจกรรมที่ สพฐ.คิดนั้น จะต้องตอบโจทย์สังคมด้วยว่าจะไปพัฒนาเด็กในด้านไหน
"ผมไม่สนใจตัวเลขว่าจะมีโรงเรียนร่วมนำร่องในนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ 10% หรือ 3,100-3,500 โรง จาก 38,000 โรงทั่วประเทศ ตามที่กำหนดไว้หรือไม่ และสพฐ.ไม่จำเป็นต้องไปไล่บี้ให้โรงเรียนเข้าร่วมกิจกรรม เพราะต้องการโรงเรียนที่มีความพร้อมในการปฏิบัติจริงๆ ต้องสร้างความมั่นใจให้นักเรียนและผู้ปกครองว่า แม้จะลดเวลาเรียนแต่คุณภาพการศึกษา การเรียนรู้วิชาการยังคงความสำคัญและเข้มข้นเหมือนเดิม" พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า ส่วนการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นกับทุกกระทรวง แต่ไม่ชอบให้ใครมาดูถูกกระทรวงของเราในเรื่องนี้ ซึ่ง ทุกคนต้องช่วยกัน โดยระบบการเรียกรับผลประโยชน์ไม่โทษใครฝ่ายเดียว เพราะการเมืองบ้านเรา ต้องใช้เงินในการคงอยู่และก้าวต่อไป ข้าราชการที่ไม่ยอมก็ถูกเล่นงานแบบลงนรกและจมดินเป็นวนเวียนอยู่แบบนี้ รวมถึงที่ผ่านมามีการแบ่งฝัก แบ่งฝ่าย โดยเฉพาะเรื่องสีเสื้อ ดังนั้นครูจะต้อง สอนเด็กให้รู้จักแยกแยะว่าอะไรถูกอะไรผิด ซึ่ง มีครูอยู่ 4 แสนคนทั่วประเทศ หากครู 1 คนสอนเด็กในเรื่องนี้ได้ 40 คน ก็จะช่วยสร้างคนรุ่นใหม่ ที่รู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดีไม่ถูกชี้นำได้เป็นสิบล้านคน
ด้าน ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า เตรียมเสนอรูปแบบกิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ให้ รมว.ศึกษาธิการพิจารณา ในวันที่ 9 กันยายนนี้ ซึ่งรูปแบบกิจกรรมแบ่งออกเป็น 4 แนวทาง คือ 1.กิจกรรมที่จัดตามวิชาหลัก 2.เปิดชมรมเลือกเสรี 3.สอนการบ้านหรือ สอนเสริม และ 4.สอนอาชีพและภูมิปัญญา ท้องถิ่น นอกจากนี้จะหารือกับสำนักงาน รับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพทางการ ศึกษา (สมศ.). และสถาบันทดสอบทางการ ศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เพื่อปรับรูปแบบการ ประเมินใหม่ให้เหมาะสมกับรูปแบบกิจกรรมลดเวลาเรียน
ที่มา คมชัดลึก วันที่ 8 กันยายน 2558