พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมและมอบนโยบายการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในการประชุมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาทั่วประเทศ ครั้งที่ 5/2558 เมื่อวันจันทร์ที่ 7 กันยายน 2558 ที่โรงแรมดวงจิตต์ รีสอร์ท แอนด์ สปา โดยมีนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) นายอนุสรณ์ ฟูเจริญ รองเลขาธิการ กพฐ. และ ดร.สุเทพ ชิตยวงศ์ รองเลขาธิการ กพฐ. ให้การต้อนรับ และมีผู้อำนวยการ/รองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วมประชุมจำนวน 400 คน ซึ่งมีสาระสำคัญสรุป ดังนี้
ผอ.สพท.เป็นพลังสำคัญต่อความสำเร็จการขับเคลื่อนนโยบายสู่การปฏิบัติ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่ได้ประกาศนโยบายผ่านการประชุมทางไกลไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ และได้มอบการบ้านให้ สพฐ.ขับเคลื่อนการจัดการศึกษาในพื้นที่หลายประการนั้น ขณะนี้ได้รับสรุปรายงานการดำเนินงานแล้ว และเชื่อว่าความสำเร็จหรือความล้มเหลวของกระทรวงศึกษาธิการขึ้นอยู่กับผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทุกคน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนสำคัญอย่างมากในการบริหารและขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความเข้าใจต่อนโยบายและแนวทางการปฏิบัติในทุกเรื่อง เพื่อให้สามารถนำไปขับเคลื่อนได้อย่างถูกทิศทาง ก่อให้เกิดการนำไปสู่การปฏิบัติมากขึ้น ซึ่งความเข้าใจในนโยบายนี้เอง จะก่อให้เกิดทัศนคติที่จะมีเป็นตัวฉุดหรือตัวดึงการเปลี่ยนแปลงประเทศและระบบการศึกษาไทย
ย้ำนโยบายสำคัญ ศธ. : จัดการศึกษาให้ครู-ผู้ปกครอง-นักเรียน มีความสุข
ขอให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการอย่างถ่องแท้ ทั้งนโยบายภาพรวมและนโยบายการจัดการศึกษาใน 26 เรื่อง โดยเฉพาะเป้าหมายการจัดการศึกษา ที่ต้องการจะจัดการศึกษาให้นักเรียนมีความสุข จัดการศึกษาให้ครูมีความสุข และจัดการศึกษาให้ผู้ปกครองมีความสุข โดยมีความสอดคล้องกับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล่าวคือ เด็กรักครู ครูรักเด็ก เด็กรู้จักความสามัคคี
เมื่อได้เข้ามาทำงานในกระทรวงศึกษาธิการ ทุกคนเป็นเสมือนลูกน้องที่ตนจะต้องให้การดูแลและช่วยเหลือในทุกด้าน ไม่เฉพาะเรื่องหนี้สินอย่างเดียว โดยเฉพาะข้าราชการหรือครูผู้น้อยจะช่วยเหลือให้สามารถทำงานได้อย่างปกติสุข ส่วนเรื่องหนี้สิน จะต้องพิจารณาถึงสาเหตุก่อนการให้ความช่วยเหลือ และต้องยอมรับว่าบางครั้งเป็นเรื่องของการสมยอม การไม่มีวินัยในการใช้จ่าย แต่ในกรณีที่ครูไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงได้ แล้วทำให้เป็นหนี้เป็นสิน ก็จะต้องให้ดูแลช่วยเหลือเป็นรายๆ ไป
เร่งขับเคลื่อนนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”
ในการขับแคลื่อนนโยบายดังกล่าว ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องถ่ายทอดนโยบายและแนวทางไปยังผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรในโรงเรียนในสังกัดอย่างถูกต้องและทั่วถึง และในการสัมมนาครั้งนี้ ก็จะขอรับฟังข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายนี้จากทุกคนด้วย โดยแยกตามกลุ่มโรงเรียนและลักษณะของพื้นที่ อาทิ โรงเรียนชายขอบ ในเมือง พื้นที่สูง เพราะต้องการทำงานแบบคลี่ปัญหาและลงในรายละเอียดของปัญหา เพื่อจะได้ตัดเสื้อให้พอดีตัว จะไม่มีการตัดเสื้อไซส์เดียว แล้วใส่เหมือนกันทั้งหมด
ซึ่งขณะนี้ สพฐ.กำลังพิจารณารูปแบบกิจกรรมเพื่อเป็นแนวทางให้โรงเรียนนำไปจัดกิจกรรม คาดว่าจะแล้วเสร็จและนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้
ฝากภารกิจที่จะดำเนินการตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้
ระหว่างนี้ จึงขอฝากให้ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษาช่วยกันระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับภารกิจหลักและกิจแฝงที่จะต้องดำเนินการตามนโยบายในประเด็นต่างๆ ดังนี้
- การสอนเสริมในจำนวนชั่วโมงที่ลดลง เช่น ในระดับประถมศึกษาลดลง 160 ชม. จะต้องมีการเรียนชดเชยหรือไม่ ตลอดจนเวลาเรียนที่ลดลงจะส่งผลต่อการสอบของนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ เมื่อต้องไปสอบแข่งขันกับนักเรียนในโรงเรียนที่ไม่ได้เข้าโครงการหรือไม่ ขอให้ สพฐ.ศึกษาและจัดเตรียมข้อมูลเหล่านี้ไว้ให้ชัดเจน เพราะเหล่านี้เป็นข้อคำถามของผู้ปกครองทั้งประเทศ
- กิจกรรมเสริมทักษะหรือเมนูกิจกรรมในช่วงบ่ายมีอะไรบ้าง ซึ่งรูปแบบกิจกรรมต้องมาจากหลักคิดที่มีตรรกะ เป็นเหตุเป็นผล ลงในรายละเอียดของนักเรียนในแต่ละวัย แต่ละระดับ และวุฒิภาวะของเด็ก ทั้งระดับประถมศึกษาตอนต้น ประถมศึกษาตอนปลาย มัธยมศึกษาตอนต้น และมีการจัดแบ่งกลุ่มเสริมทักษะในแต่ละด้านด้วย กล่าวคือ จะต้องเป็นเมนูนี้ที่พร้อมนำไปใช้ หรือพร้อมกิน พร้อมใช้ และอาจมีบางเมนูที่ต้องมีอุปกรณ์เสริม ซึ่ง สพฐ.จะจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้ให้ต่อไป
- เป้าหมายโรงเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการ หากมีโรงเรียนมาสมัครไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ คือ 10% ของโรงเรียนสังกัด สพฐ. หรือประมาณ 3,100 โรงเรียน ก็ไม่จำเป็นจะต้องรับสมัครเพิ่ม แต่ขอให้โรงเรียนที่มาเข้าร่วมโครงการมีความหลากหลายรูปแบบ ทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ไปจนถึงไกลตัวเมือง โรงเรียนในพื้นที่สูง โรงเรียนชายขอบ ตลอดจนให้มีการประเมินความพร้อมของครูในโรงเรียนจะสมัครเข้าร่วมโครงการ ทั้งในด้านเนื้อหาและเวลาด้วย
- ย้ายกิจกรรมที่จัดอยู่แล้วไปไว้ช่วงบ่าย มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำกิจกรรมต่างๆ ที่โรงเรียนจัดให้กับนักเรียนอยู่แล้ว ย้ายไปจัดในช่วงบ่ายหลังเรียนวิชาหลัก ซึ่งในความเป็นจริงช่วงเวลาในการจัดกิจกรรมสามารถยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียน ไม่จำเป็นต้องยึดเวลาอยู่ที่ 14.00 น. เท่านั้น
- การขออนุญาตรับนักเรียนกลับบ้าน ผู้ปกครองสามารถทำได้ แต่ต้องขออนุญาตเป็นรายๆ ไป โดยขอฝากให้ผู้ปกครองทำความตกลงกับบุตรหลานด้วย เพราะเด็กบางคนอาจจะต้องการเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อนที่โรงเรียนก็ได้ หากโรงเรียนมีกิจกรรมที่น่าสนใจและดึงดูดมากพอ แต่หากคำถามว่าหากผู้ปกครองจะรับนักเรียนไปเพื่อเรียนกวดวิชา กรณีนี้กระทรวงศึกษาธิการคงไม่สามารถห้ามได้ เพราะการกวดวิชาเกิดจากระบบการแข่งขันของเรา ซึ่งหากจะแก้ไขระบบการสอบแข่งขันต่างๆ ก็คงจะต้องใช้เวลานานและเป็นเรื่องในอนาคตที่จะต้องคิดต่อไป ส่วนกรณีที่ครูรับสอนพิเศษหลังเวลาเลิกเรียน ได้มอบให้ ผอ.สพท.จัดทำข้อมูลและรายละเอียดของครูที่ไปสอนพิเศษที่ต่างๆ ทั้งในด้านจำนวนครู สถานที่ที่ไปสอน หรือวิชาที่สอน เพื่อเป็นข้อมูลในการกำกับติดตามการเรียนการสอนในชั้นเรียนของครูต่อไป
การขับเคลื่อนงานด้านการศึกษา
ขณะนี้ได้ลงนามในคำสั่งมอบหมายงานให้ รมช.ศึกษาธิการ แล้ว โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
- งานประจำ ได้มอบให้พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงาน กศน. ส่วนนายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) รวมทั้งหน่วยงานในกำกับ คือ สสวท. และ สทศ. ส่วนที่เหลือคือสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และหน่วยงานในกำกับอื่นๆ ดูแลเอง
- งานตามนโยบาย 26 เรื่อง ซึ่งจะมีหลายงานที่ต้องบูรณาการการทำงานแบบข้ามแท่งกัน เช่น การรับนักเรียนนักศึกษาอาชีวะที่จะมีการเชื่อมโยงไปยัง สกอ. ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เพราะขณะนี้เป็นช่วงเวลาของการปฏิรูป ตนจำเป็นต้องรู้งานของกระทรวงทุกเรื่อง เพื่อให้นโยบายทิศทางการทำงาน (หมายเหตุ : งานตามนโยบาย 26 เรื่อง สามารถตรวจสอบได้ที่ข่าว 294)
นอกจากนี้ ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนงานตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศปข.ศธ.) ซึ่งจะมีการประชุมทุกช่วงเช้าวันจันทร์ เพื่อเร่งรัดติดตามงานและแก้ไขปัญหาการดำเนินงานในแต่ละนโยบาย
หวังให้ครูและให้บุคลากรกระทรวงศึกษาธิการช่วยกันพลิกประเทศ แก้ปัญหาทุจริต
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ต้องยอมรับว่าระบบอุปถัมภ์เป็นวัฒนธรรมไทย แต่จะทำอย่างไรให้ระบบนี้มีความเหมาะสมที่ถูกที่ควร ซึ่งตนต้องการจะแก้ไขปัญหาการทุจริต เพราะไม่ชอบให้ใครมาดูถูกบุคลากรหรือหน่วยงานในสังกัดกระทรวง จึงขอให้บุคลากรในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการช่วยกันพลิกประเทศ โดยเฉพาะครูกว่า 4 แสนคนที่สามารถสอนให้คนไทยทุกระดับรู้จักคิด รู้จักถูก รู้จักผิด เริ่มจากนักเรียนในโรงเรียน ส่งต่อไปยังผู้ปกครอง และชุมชน ก็จะเป็นการสร้างพลังได้อย่างมหาศาล ยิ่งครูแต่ละคนทำสำเร็จมากเท่าใด ก็มีพลังมากเท่านั้น
ครูเป็นกลไกสำคัญต่อการสร้างสังคมไทยให้ใช้ Fact มากกว่า Feeling
ครูจึงเป็นกลไกสำคัญในการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งความจริง (Fact) ไม่ใช่สังคมที่มีแต่อารมณ์ความรู้สึก (Feeling) ครูต้องสอนให้เด็กสามารถแยกแยะถูกผิด รู้ดีรู้ชั่ว และรู้จักหน้าที่มากกว่ารู้จักเฉพาะสิทธิของตน เพื่อให้หลุดพ้นจากวังวนของการถูกบีบบังคับจากฝ่ายการเมืองในเรื่องที่ไม่ถูกไม่ควร การชักนำให้ทำในสิ่งผิด การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ตลอดจนการไม่เคารพกฎหมาย ดังนั้น จึงขอให้ทุกคนในกระทรวงรวมพลังเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ แม้จะต้องใช้เวลามาก ก็ต้องทำ เป็นเรื่องที่ไม่ควรปล่อยไว้โดยเด็ดขาด
สำหรับการย้ายครูที่มีข่าวลือมานานว่า มีการเรียกรับเงินตามระยะทาง อาจจะต้องทบทวนการกติกาการย้ายครูให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงและยุคสมัยปัจจุบัน เช่น ระยะเวลาประจำการก่อนย้าย การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งครูตำแหน่งต่างๆ เช่น สอบจังหวัดใด บรรจุจังหวัดนั้น เป็นต้น เพื่อลดการย้ายและเรียกรับเงิน เช่นเดียวกับการทบทวนหลักเกณฑ์เลื่อนวิทยฐานะตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (P.A.) เพราะไม่สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่จะเป็นการดึงครูออกจากนักเรียน จึงมอบให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ปรับปรุงแก้ไข โดยแยกกลุ่มที่จะใช้ประเมินครูอย่างละเอียด เพื่อให้ครูทุกกลุ่มทุกคนทุกลักษณะมีโอกาสเข้าถึงระบบการประเมินนี้ทั้งในด้านวิชาการและด้านจิตวิญญาณความเป็นครู
ในโอกาสนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้รับฟังข้อเสนอแนะของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนนโยบาย อาทิ การนำกิจกรรมในห้องเรียนมาสานต่อนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เช่น การสอนซ่อมเสริม การสอนวิชาชีพ กิจกรรมชุมนุม ทักษะชีวิต การนำคนดีเข้าสู่ระบบครู เน้นสร้างอุดมการณ์ความเป็นครู และสร้างคุณค่าในวิชาชีพ เพื่อเป็นการเตรียมคนในการเปลี่ยนแปลงประเทศในอนาคต การแก้ปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบ และการเสนอให้ลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับผู้กู้ที่มีความพร้อมจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง มีวินัยในการใช้จ่าย หรือจะไม่กู้ยืมเงินอีก เป็นต้น
อนึ่ง ช่วงก่อนเปิดการประชุมในภาคเช้า, นายอนุสรณ์ ฟูเจริญ และ ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ รองเลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานปีงบประมาณ 2559 ของ สพฐ. ว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายใหม่ๆ หลายประการ ซึ่ง สพฐ.จะได้กระจายให้เขตพื้นที่การศึกษานำไปสู่การปฏิบัติต่อไป และในปีงบประมาณ 2559 มีแผนงานที่จะดำเนินโครงการหลายส่วน อาทิ โครงการวิจัยและถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อยอดสู่ความเป็นเลิศ (Area of Excellence) ช่วงที่ 2 โดยมีเป้าหมายรับสมัคร 36 เขตพื้นที่ที่มีความสมัครใจจะเข้าร่วม, โครงการประชุมชี้แจงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การประเมินเพื่อให้มีวิทยฐานะฯ ระหว่างวันที่ 23-25 กันยายน 2558 โดยมีเป้าหมายคือผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้รับผิดชอบเขตละ 2 คน, มาตรการป้องกันการทุจริตในการสอบแข่งขันฯ ครูผู้ช่วย ซึ่งจะจัดกลุ่มเขตพื้นที่การศึกษาตามเขตตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดทำข้อตกลง (TOR) กับสถาบันอุดมศึกษาในการออกข้อสอบ การจัดระบบสอดส่อง กำกับ ดูแลการปฏิบัติ การป้องปรามการจัดติวข้อสอบหรือกวดวิชา การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร การตรวจสอบวุฒิการศึกษาและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ตลอดจนใบรับรองสิทธิ์ เป็นต้น
ตรวจเยี่ยมโรงเรียนบ้านกะหลิม ตำบลป่าตอง อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต
ภายหลังการประชุมในช่วงบ่าย รมว.ศึกษาธิการ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านกะหลิม โดยมีนางฉวี จิตต์สำรวจ ผู้อำนวยการโรงเรียน และคณะครู ให้การต้อนรับ และนำชมห้องเรียนต่างๆ ได้แก่ ห้องเรียนระบบทางไกลผ่านดาวเทียม ห้องเรียนภาษาอังกฤษ ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ และห้องเรียนสอนศาสนาอิสลาม พร้อมทั้งได้พูดคุยกับคณะครูถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน
โรงเรียนบ้านกะหลิม ก่อสร้างตั้งแต่ปี 2511 เป็นโรงเรียนขนาดเล็กในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต เปิดสอนระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 109 คน มีครูและบุคลากรทางการศึกษา 13 คน ซึ่งที่ผ่านมาโรงเรียนได้มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจนได้รับรางวัลต่างๆ จำนวนมาก อาทิ ผลการสอบ O-Net ในปี 2556 มีคะแนนเฉลี่ยทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชาสูงสุดเป็นอันดับสองของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาภูเก็ต และสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับประเทศทุกวิชา, ผ่านการประเมินภายนอกรอบ 3 ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์กรมหาชน), เป็นสถานศึกษาต้นแบบด้านภัยพิบัติ, ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการสอนนำร่อง English Bilingual Education Program for Primary teachers in the south of Thailand, เป็นต้นแบบการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ระดับโซนภูมิภาค 5 จังหวัดภาคใต้ เป็นต้น
ที่มา กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 8 กันยายน 2558