สพฐ.จี้ 111 เขตพื้นที่ฯ เร่งทำสัญญาจ้าง 7 มหา'ลัยออกข้อสอบครูผู้ช่วยภายในเดือนกันยายนนี้ พร้อมย้ำมาตรการสกัดทุจริต แนะมีกรรมการคุมห้องเก็บข้อสอบตลอด 24 ชม.
วันนี้ (7 ก.ย.) ที่โรงแรมดวงจิตต์ รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดภูเก็ต ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวระหว่างมอบนโยบายในการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้กำหนดจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งบุคคลเข้ารับราชการ เข้าเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ครั้งที่ 2 ประจำปี 2558 ใน 111 เขตพื้นที่ฯ แบ่งเป็น
- สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) 79 เขต และ
- สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) 31 เขต
โดยเปิดสอบใน 42 กลุ่มวิชา มีตำแหน่งว่างทั้งหมด 1,503 อัตรา
- รับสมัครวันที่ 14-20 ก.ย.58 นี้
- ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบวันที่ 25 ก.ย.58
- สอบแข่งขันพร้อมกันวันที่ 10-12 ต.ค.58 และ
- ประกาศผลการสอบภายในวันที่ 20 ต.ค.58
รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า การสอบแข่งขันครั้งนี้ สพฐ.กำหนดให้เขตพื้นที่ฯ ดำเนินการจัดสอบเองโดยรวมกลุ่มในพื้นที่ตามเขตตรวจราชการของกระทรวงศึกษาธิการ 13 เขต และคัดเลือกสถาบันอุดมศึกษาดำเนินการออกข้อสอบ ดังนี้
- เขตตรวจราชการ ศธ. เขต 1 ได้แก่ ม.เชียงใหม่ และ ม.ราชภัฏเชียงราย
- เขตตรวจราชการ ศธ. เขต 2,3,4,5,6,9 และ 13 ได้แก่ ม.สวนดุสิต
- เขตตรวจราชการ ศธ.เขต 7 ได้แก่ ม.ขอนแก่น
- เขตตรวจราชการ ศธ.เขต 8 ได้แก่ ม.ราชภัฏนครราชสีมา
- เขตตรวจราชการ ศธ.เขต 10 ได้แก่ ม.ทักษิณ
- เขตตรวจราชการ ศธ.เขต 12 ได้แก่ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ทั้งนี้ทุกเขตพื้นที่จะต้องเร่งทำสัญญาจ้างมหาวิทยาลัยให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้
ดร.สุเทพ กล่าวว่า สพฐ.ได้ย้ำให้มีการป้องกันการทุจริต โดยขอให้สอดส่อง กำกับ ดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ มีการตั้งคณะกรรมการดำเนินการสอบแข่งขัน ซึ่งต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการสอบ จัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในสถานที่ที่จัดสอบ ติดตั้งกล้องวงจรปิดในจุดสำคัญ เปิดช่องทางรับแจ้งข้อมูล เบาะแส และหาข่าวในทางลับ รวมถึงควรประชาสัมพันธ์ให้ผู้เข้าสอบรับทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการแอบอ้างแสวงหาผลประโยชน์
ขณะเดียวกันในการเก็บรักษาข้อสอบนั้น ขอให้จัดสถานที่หรือห้องมั่นคงและต้องมีคณะกรรมการดูแลประจำตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ควรมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหารร่วมเป็นกรรมการด้วย ให้มีเครื่องดักจับสัญญาณโทรศัพท์ เครื่องมือสื่อสารอื่นๆ ด้วย
"ทั้งนี้คาดว่าจะมีผู้เข้าสอบเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้ตรวจสอบคุณสมบัติและเอกสารไม่ทัน ดังนั้นหลังเสร็จสิ้นการสอบได้ขอให้ทุกเขตพื้นที่ฯเร่งตรวจสอบคุณสมบัติและเอกสารของผู้สอบทุกคน โดยเฉพาะเอกสารสำคัญอย่าง ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ซึ่งที่ผ่านมาพบปัญหาว่า เคยมีผู้ปลอมแปลงขึ้นเพื่อนำมายื่นสมัครสอบ และสำหรับการสอบครั้งนี้หากตรวจสอบแล้วพบว่า ผู้เข้าสอบคนใดใช้เอกสารปลอมก็จะปรับตกทันที"ดร.สุเทพกล่าว.
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 7 กันยายน 2558