นักเรียนกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทย ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง'ดาว์พงษ์'หนุนนโยบายลดเวลาเรียน แต่ต้องทำทำควบคู่กับการแก้ไขหลักสูตร และจัดกิจกรรมมีคุณภาพ
วันนี้ (3 ก.ย.) เวลา 17.00 น.ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นักเรียนตัวแทนกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทย ซึ่งประกอบไปด้วยเครือข่ายนักเรียนโรงเรียนมัธยมศึกษาหลายแห่ง เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศธ. เรื่องข้อเสนอแนะแนวทางปฎิรูปการศึกษา โดยมี รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัด ศธ. ออกมารับหนังสือซึ่งนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทย กล่าวว่าพวกตนมาแสดงความยินดีที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รับตำแหน่ง รมว.ศธ.และดีใจที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ จะเดินหน้าสานต่อการปฏิรูปการศึกษ อีกทั้งทำให้พวกเรามีความหวังว่าท่านจะสามารถนำพาประเทศไทยให้ก้าวพ้นวิกฤติความตกต่ำทางการศึกษาได้ ขณะเดียวกันมีข้อเสนอแนะในนโยบายลดเวลาเรียนให้ พล.อ.ดาว์พงษ์. รับไว้พิจารณาด้วย คือ 1. ปัญหานักเรียนไทยเรียนมากเกินไปนั้น ไม่ได้หมายถึงเวลาเรียนของนักเรียนในห้องเรียนมากเกินไป แต่รวมถึงปัญหาหลักสูตรมีเนื้อหายาว ไม่กระชับและมีรายวิชาเรียนมากเกินไป จนส่งผลให้เวลาที่ใช้เรียนนั้นมากตามไปด้วย ดังนั้น การลดเวลาเรียนควรทำควบคู่กับการแก้ไขหลักสูตร ซึ่งต้องรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน รวมถึงครูผู้สอนและนักเรียนด้วย นอกจากนี้ควรปรับลดจำนวนรายวิชาบังคับลง และเพิ่มจำนวนวิชาเลือกเสรี เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนตรงตามความสนใจของตนเองได้มากขึ้น 2.นโยบายให้มีการจัดกิจกรรมเสริมทักษะที่เน้นการลงมือปฏิบัติของนักเรียนนั้น การจัดกิจกรรมดังกล่าวจำเป็นต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วม ความสนใจและความสมัครใจของนักเรียนเป็นหลัก กิจกรรมควรมีความหลากหลาย เพื่อให้นักเรียนสามารถเลือกเข้าร่วมได้ตรงตามความสนใจของตน และไม่ควรมีการบังคับนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม และควรมีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ หรือ ทำกิจกรรมนอกเวลาเรียน เช่น ห้องสมุด สนามกีฬา ศูนย์สารสนเทศ ให้มีคุณภาพและทั่วถึง เพื่อให้นักเรียนมีแหล่งค้นคว้าเรียนรู้และแหล่งทำกิจกรรมนอกเวลาเรียนที่มีคุณภาพด้วย
ด้าน รศ.นพ.กำจร กล่าวว่า กลุ่มนักเรียนได้มายื่นหนังสือเพื่อสนับสนุนนโยบายการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ของรมว.ศธ. และขอมีส่วนร่วมในการกำหนดกิจกรรมที่จะมีขึ้นในช่วงบ่าย แต่เนื่องจากนักเรียนที่มายื่นเรื่องเป็นนักเรียนชั้น ม.5 ตนจึงก็ได้อธิบายไปว่ากิจกรรมนี้จะเริ่มระดับประถมศึกษา และ ม.3 ซึ่งทุกคนก็เข้าใจแต่ก็มีข้อเรียกร้องว่าอยากให้ในการปฏิรูปการศึกษา หรือ ดำเนินการอะไรก็ตามขอให้มีนักเรียน และผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น.“
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 3 กันยายน 2558