พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมศึกษาธิการ ครั้งที่ 9/2558 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 กันยายน 2558 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีพลเอกสุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ และนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารฝ่ายการเมือง ผู้บริหารองค์กรหลัก ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารหน่วยงานในกำกับ ผู้บริหารองค์การมหาชน และผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในสังกัดเข้าร่วมประชุม
ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการศึกษา
รมว.ศึกษาธิการ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบเกี่ยวกับข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2558 โดยมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการหลายเรื่อง ได้แก่
- ร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการออกเสียง (โหวต) รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 กันยายนนี้ เป็นเรื่องที่ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการควรจะต้องรู้และศึกษารายละเอียดมาตราต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานด้านการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นมาตราที่จะส่งผลต่อการทำงาน มาตราใดที่ยังไม่ได้รับการปรับแก้ตามข้อเสนอที่เคยให้ไว้ เป็นต้น ทั้งนี้ได้มอบปลัดกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญกับการส่งผู้แทนของกระทรวงในการเข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายลูกในส่วนที่เกี่ยวข้องภายหลังการโหวตร่างรัฐธรรมนูญผ่านเรียบร้อยแล้ว โดยขอให้เป็นผู้มีความโปร่งใส สะอาด และควรมีทีมที่จะคอยให้การช่วยเหลือในการเตรียมตัว เตรียมข้อมูล พร้อมทั้งระดมความคิดเห็น เพื่อให้การเสนอกฎหมายลูกของกระทรวงเป็นไปในทิศทางที่ต้องการ
- ความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม จากข้อคิดของนายกรัฐมนตรีที่กล่าวไว้ว่า “สังคมไทยถูกบิดเบือนข้อมูล ทำให้คนไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม” ฉะนั้นในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการควรมีการทบทวนกระบวนการยุติธรรม โดยขอให้หัวหน้าส่วนราชการทุกส่วนถอยหลังกลับไปดูกระบวนการให้ความยุติธรรมกับผู้ใต้บังคับบัญชา เสมือนเป็นการส่องกระจกดูตัวเอง เพราะหากเคยพลั้งเผลอไม่ลงโทษคนผิด ก็เท่ากับว่าเป็นการลงโทษคนดีไปแล้ว
- การเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรี ควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะหลายครั้งที่ไม่ให้ความสนใจในเรื่องเกี่ยวข้องต่างๆ อาจจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของกระทรวงหรือหน่วยงานในภูมิภาค โดยขอให้เสนอความเห็นตามเวลาที่กำหนด คือก่อนการประชุมเป็นเวลา 7 วัน หรือหากเสนอไม่ทัน ก็ควรจัดระบบสารบรรณ-แจกจ่ายหนังสือโดยเร็ว แม้จะเป็นช่วงของวันหยุดก็ตาม
- ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปของ สปช. ตามมาตรา 31 ที่คณะรัฐมนตรีส่งไปยังกระทรวงต่างๆ หากมีเรื่องใดค้างอยู่ ก็ควรเสนอความเห็นกลับภายใน 30 วัน เพื่อ สปช.จะได้เร่งดำเนินการปรับแก้ต่อไป
- การประชุมในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการประชุม การพบปะ หรือการหารือกับหน่วยงานต่างๆ ในต่างประเทศ ขอให้หัวหน้าส่วนที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมข้อมูลและรายละเอียดให้มีความสมบูรณ์ชัดเจน ตลอดจนมีมาตรการเชิงรุกที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ตลอดจนสังเกตท่าทีหรือการตอบรับของผู้ฟังด้วยว่าให้ความสนใจหรือไม่ เพื่อที่จะได้ดำเนินการตามมาตรการเชิงรุกต่อไป
- การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้เพื่อปรับเปลี่ยนบุคคลให้ตรงกับสถานการณ์ของระบบเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในระยะที่สอง และได้มอบให้กระทรวงต่างประเทศทำหน้าที่ด้านเศรษฐกิจให้เข้มข้นขึ้นด้วย
- การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ ได้รายงานผลการดำเนินงานเรื่องให้คณะรัฐมนตรีได้ทราบว่า ในภาพรวมมีผลตอบรับในเชิงบวก แต่ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ใน 2 ประเด็น คือ
1) ชั่วโมงเรียนที่ลดลงจะทำให้นักเรียนมีความรู้น้อยลงหรือไม่ จะมีผลต่อการสอบเข้าเรียนต่อหรือจะสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้หรือไม่
2) ในช่วงเวลาหลังเลิกเรียนในห้องเรียน จะให้เด็กเรียนรู้อะไร ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมการและวางแผนไว้แล้ว และในเร็วๆ นี้ จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับทุกโรงเรียนนำร่อง ก่อนการนำนโยบายไปปฏิบัติจริงในช่วงของการเปิดภาคเรียนที่ 2
แนวทางการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการ
รมว.ศึกษาธิการ ได้แจ้งแนวทางการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการต่อที่ประชุม ดังนี้
- การเปิดเพลงชาติ ในช่วงเวลา 8.00 น. และ 18.00 น. ควรเปิดให้ได้ยินโดยทั่วถึงทั้งกระทรวง และมีการดูแลจัดเก็บธงชาติให้เรียบร้อย ไม่ควรค้างธงชาติไว้ที่สายชัก
- การปรับปรุงภูมิทัศน์ ในส่วนด้านหน้าอาคารราชวัลลภให้มีความสวยงามยิ่งขึ้น รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ภายในกระทรวงศึกษาธิการด้วย
- การรับน้อง มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาพิจารณาทบทวนมาตรการการจัดกิจกรรมรับน้องและการนำมาตรการไปสู่การปฏิบัติของสถาบันอุดมศึกษาว่า เป็นไปตามมาตรการหรือไม่อย่างไร
- การลดหนังสือร้องเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นโจทย์สำคัญที่แก้ไขให้มีจำนวนน้อยลง ซึ่งทุกคนจะต้องช่วยกันสร้างความโปร่งใส รวมทั้งให้มีการสื่อสารต่อกันให้มากขึ้น
- การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นการประชุมร่วมกันของผู้แทนจากทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในทุกช่วงเช้าของวันจันทร์ โดยมี รมว.ศึกษาธิการ หรือเลขานุการ รมว.ศึกษาธิการเป็นประธาน เพื่อติดตามงานและรายงานความก้าวหน้างานตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ 26 เรื่อง
- การเปิดปิดภาคเรียนของสถานศึกษา ระดับขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา โดยจะต้องศึกษาและวิเคราะห์ช่วงเวลาการเปิดปิดภาคเรียนของประเทศต่างๆ ในอาเซียน ที่จะสร้างความได้เปรียบและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนและระบบการศึกษาไทย
- การแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาทุกระดับ โดยจะจัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงยุติธรรม เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาที่มีแผนงาน มาตรการ แนวทาง ตลอดจนการจัดกิจรรมอย่างเป็นระบบ
- การกำหนดวาระการประชุมกระทรวงศึกษาธิการในคราวต่อไป ควรกำหนดวาระให้อยู่ภายใต้กรอบนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ทั้ง 26 เรื่อง
สรุปผลการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ
1) รับทราบโครงการ กยศ. และ กรอ. เพื่อชาติ
ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่จะจัดทำข้อตกลงร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในโครงการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) เพื่อชาติ เพื่อสร้างความรับผิดชอบและจิตสำนึกให้กับบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ. กรอ.ให้ชำระหนี้คืนเงินกองทุน และจะขอให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นต้นแบบในการกระตุ้นหน่วยงานราชการต่างๆ ด้วย ซึ่งในขณะนี้ มีบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการที่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ บุคลากรทางการศึกษา และลูกจ้าง ที่เป็นผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ. และ กรอ. รวมทั้งสิ้น 62,744 คน วงเงินค้างชำระจำนวน 915 ล้านบาท แบ่งเป็น
1) ผู้กู้ยืมเงินจาก กยศ. จำนวน 59,868 คน วงเงินค้างชำระจำนวน 913 ล้านบาท แบ่งสถานะเป็นลูกหนี้ไม่ค้างชำระ 40,431 คน และลูกหนี้ค้างชำระ 19,437 คน
2) ผู้กู้ยืมเงินจาก กรอ. จำนวน 2,876 คน วงเงินค้างชำระจำนวนกว่า 2 ล้านบาท แบ่งสถานะเป็นลูกหนี้ไม่ค้างชำระ 1,932 คน และลูกหนี้ค้างชำระ 944 คน
ส่วนข้อเสนอของ กยศ. เพื่อกระตุ้นให้ผู้ยืมเงินชำระหนี้คืนกองทุน แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ
- กรณีบุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมยินยอมให้หักเงินเดือน เช่น การลดหย่อนหนี้เป็นจำนวนเท่ากับเงินชำระหนี้ 3 เดือนสุดท้ายให้กับผู้กู้กลุ่มทั่วไปที่ไม่ค้างชำระ, การลดเบี้ยปรับ 100% ให้กับกลุ่มผู้ค้างชำระหนี้เป็นปกติและกลุ่มลูกหนี้ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องที่ค้างชำระหนี้เป็นปกติ, การปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ให้กับกลุ่มที่ไม่สามารถชำระหนี้ให้เป็นปกติได้และลดเบี้ยปรับ 50%, ส่วนกลุ่มลูกหนี้ที่ถูกดำเนินคดี กรณีพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้ผ่อนชำระเป็นรายเดือนและไม่ค้างชำระหนี้ จะได้รับการลดหย่อนหนี้เป็นจำนวนเท่ากับเงินชำระหนี้ 3 เดือนสุดท้าย เป็นต้น
- กรณีบุคลากรที่เป็นผู้กู้ยืมปิดบัญชี เช่น กลุ่มลูกหนี้ทั่วไปและกลุ่มลูกหนี้ไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องที่ไม่ค้างชำระ จะได้รับส่วนลดเงินต้น 3% ในกรณีที่ค้างชำระ จะได้รับส่วนลดเบี้ยปรับ 100%
รมว.ศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาใน 2 ส่วน คือ ส่วนแรกเป็นการแก้ไขปัญหาผู้กู้เดิมที่ไม่ชำระหนี้ ซึ่งจะต้องมีการปลุกจิตสำนึกความรับผิดชอบ พร้อมทั้งวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา หากพบปัญหาในส่วนใดก็จะต้องให้การช่วยเหลือต่อไป ส่วนที่สองคือหลักเกณฑ์สำหรับผู้กู้ยืมรายใหม่ ซึ่งอาจจะต้องมีการทบทวนหลักเกณฑ์หรือไม่อย่างไร เช่น คุณสมบัติผู้กู้ จำนวนเงินที่ให้กู้ วิธีการชำระหนี้ เป็นต้น
2) รับทราบผลการจัดประชุม The High Officials Meeting on SEA-TVET
ที่ประชุมรับทราบผลการจัดประชุม The High Officials Meeting on SEA-TVET : Working Together Towards Hamonization and Internationalization ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 สิงหาคม 2558 ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านอาชีวศึกษาที่เข้มแข็งระหว่างผู้บริหารระดับสูงด้านอาชีวศึกษาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเพื่อกำหนดกลยุทธ์และการพัฒนาทางการอาชีวศึกษาอย่างเร่งด่วน โดยมีผู้บริหารจากประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ (ไทย สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย) ผู้แทนจากประเทศสมาชิสมทบ (จีนและญี่ปุ่น) องค์การระหว่างประเทศและในประเทศไทย และผู้บริหารของ สอศ. เข้าร่วมจำนวน 200 คน
การประชุมครั้งนี้ ได้มีการนำเสนอ Best Practices of TVET Collaboration ในหัวข้อต่างๆ การประชุมโต๊ะกลม การประชุมทวิภาคี และที่สำคัญคือ การแถลงการณ์ร่วม (Joint Statement) เพื่อสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พร้อมประสานมั่นสู่สากลด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาและการฝึกอบรม หรือ TVET แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีภารกิจและยุทธศาสตร์ร่วมที่สำคัญ 7 ประการ คือ
1) ความร่วมมือในเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาทั้งในระดับชาติและตามกรอบคุณวุฒิการศึกษาของประเทศสมาชิกซีมีโอ โดยยึดกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน หรือ AQRF
2) การจัดตั้งสมาพันธ์เทคนิคและอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEA-TVET
3) การให้ความสำคัญกับสาขาวิชาและภาคอุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยวเป็นอันดับแรกในการดำเนินกิจกรรมนำร่อง รองลงมาคือ สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ สาขาวิชาแมคคาทรอนิกส์ สาขาวิชาการผลิต สาขาวิชาเกษตร สาขาวิชาประมง และสาขาวิชาการก่อสร้าง
4) การแลกเปลี่ยนความรู้ ผู้เชี่ยวชาญ และทรัพยากรการศึกษา
5) การจัดทำแผนผังอาชีพด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมตามภูมิศาสตร์พื้นที่
6) การส่งเสริมนวัตกรรมและการฝึอบรมครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา
7) การเคลื่อนย้ายบุคลากรทางการศึกษา นักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษาและการฝึกอบรม ตลอดจนแรงงานอย่างเสรีในภูมิภาค
3) รับทราบการพัฒนาการจัดการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง
ที่ประชุมรับทราบการรายงานผลการพัฒนาการจัดการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เพื่อปรับปรุงการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนมีทักษะการคิดวิเคราะห์ และลงสู่การปฏิบัติหน้าที่และความเป็นพลเมือง โดยดำเนินงานร่วมกับองค์กรหลัก สถาบันพระปกเกล้า ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในรูปแบบของกิจกรรมโครงการต่างๆ อาทิ โครงการสร้างสำนึกพลเมือง (Project Citizen) โครงการรวมพลังสร้างความเป็นพลเมือง โครงการจัดทำคู่มือการจัดการเรียนการสอนเชิงกระบวนการเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง การสร้างความตระหนักผ่านรายการโทรทัศน์ เช่น รายการพลเมืองตัวเล็ก เป็นต้น
โดยมีข้อค้นพบจากการดำเนินโครงการใน 3 ส่วน คือ 1) นักเรียน ได้เรียนรู้วิธีการทำงานจากการทำโครงงาน มีความเห็นอกเห็นใจ เสียสละเพื่อส่วนรวม มีระเบียบวินัย ให้เกียรติและเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างมากขึ้น ตระหนักในศักยภาพและความสามารถของตนเอง ตลอดจนมีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมแก้ไขปัญหาของชุมชน 2) ครูผู้สอน สามารถใช้เทคนิคการเรียนการสอนแบบ Active Learning, Problem-based Learning, Project-based Learning ได้อย่างมีประสิทธภาพ ได้เรียนรู้ร่วมกับนักเรียนผ่านการทำโครงงาน 3) ผู้บริหารสถานศึกษาเกิดความร่วมมือร่วมใจในการดำเนินงาน มีการเรียนรู้ร่วมกัน และเป็นต้นแบบความเป็นพลเมือง
ที่มา กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 3 กันยายน 2558