"ดาว์พงษ์" สั่ง สพฐ.ไปวางกรอบกิจกรรมหลังปรับลดเวลาเรียน แล้วให้รายงานภายใน 7 กันยายนนี้ เดินหน้าเร่งสร้างความเข้าใจผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง ให้ใช้ทันเปิดภาคเรียนที่ 2/2258 ยันหากได้ผลจะช่วยลดการกวดวิชาได้ ด้านนายกฯ ลั่นหวังให้เด็กได้ศึกษานอกตำรา เสริมทักษะทำงานให้เป็นในอนาคต นักวิชาการจุฬาฯ "สมพงษ์" ชี้หากทำได้จริงเป็นการพลิกการศึกษาไทยครั้งใหญ่ เพราะจะมีผลต่อการจัดหลักสูตร ระบุช่วงนำร่องต้องติดตาม ประเมินผลใกล้ชิด เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่แท้จริง
พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ตนได้ประชุมหารือร่วมกับนายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) เรื่อง "นโยบายปรับลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานแผนการดำเนินงานที่วางไว้ อาทิ การปรับโครงสร้างเวลา ลดจำนวนชั่วโมงเรียน และรายวิชาที่จะปรับลด เป็นต้น ซึ่งตนได้กำชับไปว่าการดำเนินการดังกล่าวจะต้องไม่ส่งผลกระทบกับการเรียนในวิชาหลัก และในการทำกิจกรรมช่วงบ่ายจะต้องมีมาตรการการดูแลความปลอดภัยของเด็กในช่วงที่ทำกิจกรรมนอกห้องเรียนด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนของกิจกรรมที่จะให้เด็กทำนั้น สพฐ.จะกำหนดไว้เป็นกรอบกว้างๆ ให้เหมาะสมกับโรงเรียนในแต่ละพื้นที่ โดยโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องเลือกจัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ตนเอง และยังต้องสอดคล้องกับนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เพื่อตอบโจทย์นายกรัฐมนตรีที่ว่า จะต้องทำให้เด็กได้เรียนอย่างมีความสุข รวมถึงผู้ปกครองและครูก็ต้องมีความสุขด้วย
ส่วนกิจกรรมต่างๆ ที่โรงเรียนเป็นผู้จัดนั้นไม่จำเป็นต้องทำซ้ำตลอดทั้งปี แต่สามารถเปลี่ยนหมุนเวียนได้ตามความเหมาะสม อาทิ เดือนนี้อาจะเรียนทำกับข้าว เดือนถัดไปอาจจะเชิญปราชญ์ชาวบ้านมาให้ความรู้เรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น โดยตนได้มอบการบ้านให้ สพฐ.จะไปจัดทำรายละเอียดให้ชัดเจน ก่อนเสนอให้ตนพิจารณาอีกครั้งวันที่ 7 กันยายน จากนั้นจะต้องเร่งสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริหารสถานศึกษาและครูในโรงเรียนนำร่องทั้ง 3,500 โรงเรียน จากโรงเรียนทั้งหมดประมาณ 28,000 โรง ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 10 ตุลาคม เพื่อให้ครูได้มีเวลาเตรียมความพร้อมจัดการเรียนการสอนให้ทันในวันที่ 1 พฤศจิกายน
"การลดเวลาเรียนไม่ใช่การเรียนเฉพาะ 5 วิชาหลัก และย้ายอีก 3 กลุ่มสาระ คือการงานอาชีพและเทคโนโลยี สุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ ไปเรียนในช่วงบ่ายนั้น แต่กิจกรรมในช่วงบ่ายจะเป็นส่วนของการเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งจะให้เด็กสามารถอยู่ได้ในสังคม ต่อสู้ในสังคมภายนอกได้ ดังนั้นจึงต้องหารูปแบบกิจกรรมที่ทำให้เด็กรู้สึกอยากจะทำ และรู้สึกว่าทำแล้วมีความสุข พ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่ต้องห่วงเรื่องความปลอดภัย เรื่องนี้มีการดำเนินงานมาก่อนที่ผมจะเข้ามาเป็น รมว.ศธ. ซึ่งผมก็มาดำเนินการต่อ และค่อยๆ กระชับไปเรื่อยๆ และผมขอยืนยันว่าการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ไม่ได้ให้เด็กกลับบ้านเร็วกว่าปกติ แต่เด็กจะต้องทำกิจกรรมและอยู่ในโรงเรียนจนถึงเวลาเลิกเรียน หากนักเรียนคนใดมีความต้องการจะกลับบ้าน ผู้ปกครองจะต้องมาขออนุญาตจากทางโรงเรียนเป็นรายๆ ไป" รมว.ศธ.กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากไปลดเวลาเรียนวิชาหลักจะส่งผลกระทบต่อเด็กเรียนอ่อนอยู่แล้วหรือทำให้เด็กเรียนอ่อนลงหรือไม่ จะแก้ไขตรงจุดนี้อย่างไร พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวว่า จริงๆ กิจกรรมช่วงบ่ายจะมีกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาเด็กที่มีปัญหาลักษณะนี้ ซึ่งอาจจะเป็นการจัดกลุ่มเฉพาะ หรือครูจะทำหน้าที่สอนการบ้านเด็ก เป็นต้น แต่ถ้าผู้ปกครองจะให้เด็กออกจากโรงเรียนในเวลาดังกล่าวเพื่อไปเรียนพิเศษแทนนั้น ก็คงไม่สามารถห้ามหรือไปคิดแทนผู้ปกครองได้ แต่ตนเชื่อว่าหาก ศธ.สามารถจัดระบบการศึกษาที่ดีจริงได้ และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ปกครอง ก็จะไม่มีการพาลูกไปเรียนพิเศษนอกเวลา แต่การดำเนินการทั้งหมดต้องใช้เวลา ดังนั้นจึงยังไม่สามารถตอบคำถามได้ภายใน 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี จำเป็นต้องใช้เวลาพอสมควรจึงจะเห็นผลที่ชัดเจน
เมื่อเวลา 14.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เปิดเผยถึงนโยบายการลดระยะเวลาการเรียนภาควิชาการลง ให้เลิกในเวลา 14.00 น. ว่า ใครไปพูดเลิกเรียนบ่ายสองก็ไม่รู้ ตนเห็นหนังสือพิมพ์เขียนลดถึงบ่ายสอง ซึ่งการเลิกเรียนนั้นแล้วแต่โรงเรียน ไปบังคับไม่ได้ เพียงแต่ตนต้องการให้มีเวลาในช่วงบ่าย เพื่อให้เด็กมีเวลาปฏิสันถารด้วยกัน หรือมีเวลาวิเคราะห์วิจารณ์กัน ไปอ่านหนังสือนอกเวลา หรือไม่ก็สอนวิธีการนำสิ่งที่เรียนมาไปทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ในวันหน้า เพราะหากเรียนหนังสืออย่างเดียว ทำงานไม่เป็นอีก ไม่รู้จะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร ท่องตำราได้เพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้ ตนจึงบอกว่าการเรียนมี 2 อย่างที่ไปด้วยกันคือ เรียนเพื่อได้ความรู้ เพื่อสอบ เพื่อใบปริญญา ก็ไม่ขัดข้อง แต่คำว่าเรียนรู้คือรู้ว่าจะใช้ชีวิตวันข้างหน้าอย่างไร ซึ่งต้องนำสิ่งนี้มาประกอบกัน
"วันนี้สิ่งที่ผมรับฟัง อยู่ที่เด็ก ครู ผู้ปกครอง ระบบบริหารจัดการศึกษา ส่วนที่เด็กไม่มีความสุขก็คือเวลาที่เครียด เรียนเช้าถึงเย็น มีการบ้าน แล้วมีเรียนพิเศษอีก ความหมายของผมคือไม่ใช่ลดเวลาลงแล้วกลับบ้าน บางคนเขียนว่าพ่อแม่จะเป็นภาระ เดี๋ยวเด็กไปติดยาอะไรอีก ไปเล่นเกม ใครจะให้ปล่อยกลับบ้านแบบนั้น ประเทศไหนเขาทำ เพียงแต่เวลาที่เหลืออยู่ คาบวิชาเรียนหรือสาระวิชา 8 สาระ ควรจะลดตรงไหนลงบ้าง เพราะหลายอย่างต้องใช้ในการแข่งขัน เพื่อให้ทัดเทียมต่างประเทศ ก็มีอยู่ แต่บ้านเราต้องเสริมอย่างอื่นด้วย คือการปลูกฝังอุดมการณ์ สร้างจิตสำนึก สร้างกระบวนการ-วิสัยทัศน์ สร้างความรักกันในหมู่คณะ การเสียสละ และอีกมากมาย ไม่อย่างนั้นเด็กก็คิดไม่ค่อยเป็น เพราะท่องตำราอย่างเดียว เรียนจากครูโรงเรียน ครูกูเกิล เฟซบุ๊ก แต่ทั้งนี้มันก็จำเป็น" นายกฯ กล่าว
ด้านนายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพราะถือว่าเป็นการพลิกการศึกษาไทยครั้งใหญ่ ดังนั้นหากต้องการทำให้ประสบความสำเร็จและยั่งยืน โครงการนำร่องจะต้องมีคณะผู้ติดตามและประเมินการดำเนินการในทุกระยะ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ครู ที่จะต้องเปลี่ยนความคิดจากผู้สอนตามตำรา เป็นผู้จัดกิจกรรม จัดกระบวนการความคิด และตัวกิจกรรม ต้องจัดให้เหมาะสมกับโรงเรียน อาทิ โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ภูมิภาค อาจจะเน้นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยชุมชน หรือโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่อุตสาหกรรม อาจจะเน้นกิจกรรมส่งเสริมอาชีพ เป็นต้น
"ผมอยากเห็นนโยบายเรื่องนี้มีความเชื่อมโยงในหลายส่วน เพราะการลดจำนวนชั่วโมงเรียนดังกล่าวจะต้องส่งผลต่อหลักสูตรที่กำลังจะเกิดขึ้น ทั้งยังต้องเปลี่ยนรูปแบบการประเมินและตัววัดผล แน่นอนว่ากิจกรรมเหล่านี้เป็นการสร้างเสริมลักษณะนิสัย ซึ่งมีการเชื่อมโยงต่อระบบการเข้าศึกษาต่อในระดับต่างๆ มากน้อยเพียงใด" อาจารย์ครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว และว่า สำหรับในช่วงระยะแรก ครูจำเป็นจะต้องดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ชี้แนะให้เด็กมีการคิดโจทย์กิจกรรมที่สนใจ รวมกลุ่มผู้ที่สนใจในลักษณะเดียวกัน และร่วมมือกันวางแผน แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ สร้างความมีวินัยและการรู้จักการช่วยเหลือกัน และเมื่อเด็กเริ่มเข้าที่เข้าทางแล้วก็จะสามารถจัดการได้ด้วยตนเอง.
สมพงษ์ จิตระดับ
"ถือว่าเป็นการพลิกการศึกษาไทยครั้งใหญ่ ดังนั้นหากต้องการทำให้ประสบความสำเร็จและยั่งยืน โครงการนำร่องจะต้องมีคณะผู้ติดตามและประเมินการดำเนินการในทุกระยะ".
ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ
"กิจกรรมในช่วงบ่ายจะเป็นส่วนของการเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งจะให้เด็กสามารถอยู่ได้ในสังคม ต่อสู้ในสังคมภายนอกได้".
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
"ผมต้องการให้มีเวลาในช่วงบ่าย เพื่อให้เด็กมีเวลาปฏิสันถารด้วยกัน หรือมีเวลาวิเคราะห์วิจารณ์กัน ไปอ่านหนังสือนอกเวลา หรือไม่ก็สอนวิธีการนำสิ่งที่เรียนมาไปทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ในวันหน้า เพราะหากเรียนหนังสืออย่างเดียว ทำงานไม่เป็นอีก ไม่รู้จะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร".
ที่มา ไทยโพสต์ วันที่ 1 กันยายน 2558