“สุรเชษฐ์”นั่งหัวโต๊ะปราบทุจริต เร่งวางแผนจัดการปัญหาและสางทุจริตในกระทรวงศึกษาธิการโดยเฉพาะคดีใหญ่ ๆ ที่สังคมสนใจทั้งฟุตซอล สอบครูผู้ช่วย ครุภัณฑ์อาชีวะ เป็นปลื้มคนวงการศึกษาดีใจที่มีคุณะกรรมการปราบทุจริต เชื่อทำให้การปฏิรูปการศึกษาเดินหน้าได้
วันนี้ (2ก.ย.) พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ ฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการทุจริต กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายเร่งรัดเรื่องการปราบปรามการทุจริตอย่างเข้มข้น ซึ่งในส่วนของ ศธ.นั้น คณะกรรมการนโยบายแลพัฒนาการศึกษา หรือ ซูเปอร์บอร์ดการศึกษาที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้มอบหมายให้ตนรับผิดชอบในการพิจารณาจัดการแก้ไขปัญหาการทุจริตใน ศธ. ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูประบบการศึกษา โดยให้กำหนดเป้าหมายการดำเนินการให้แล้วเสร็จอย่างน้อยร้อยละ 50 ตามแผนภายใน 3 เดือน และ ร้อยละ 75 ภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่คำสั่งมีผลบังคับ ซึ่งก็คือวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา
รมช.ศธ.กล่าวต่อไปว่า จากการประชุมซึ่งมีผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ใน ศธ. และผู้แทนจากหน่วยงานที่ทำงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้แก่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น ได้ร่วมกันให้ข้อแนะนำในการจัดทำแผนงานแก้ไขปัญหาอย่างสมบูรณ์ พร้อมทั้งมีมาตรการควบคุมและป้องกันปัญหาอย่างเข้มข้น ซึ่งคณะกรรมการจะเร่งจัดทำแผน และมาตรการเพื่อรายงานนายกรัฐมนตรีทราบต่อไป
“จากข้อมูลที่ได้รับรายงานพบว่า มีข้อมูลการทุจริตที่อยู่ระหว่างดำเนินการมากกว่า 600 คดี จำแนกเป็นประเภทหลัก ๆ ดังนี้ คดีทุจริตร้ายแรงเกี่ยวกับการงบประมาณ(การพัสดุ การจัดซื้อจัดจ้าง) คดีทุจริตเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล(การสรรหาแต่งตั้งโยกย้าย การสอบบรรจุครู) คดีเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไปไม่โปร่งใส มีพฤติกรรมส่อทุจริต เรื่องการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตการบริหารงานไม่โปร่งใส และเรื่องอื่น ๆ โดยเรื่องการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตบริหารงานไม่โปร่งใสมีมากที่สุดถึง 301 คดี ทั้งนี้ ผมได้ขอให้เร่งรัดดำเนินการทุกคดีให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว โดยเฉพาะคดีที่สังคมให้ความสนใจจะต้องเร่งรัดเป็นพิเศษ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างสนามฟุตซอล การเรียกร้องเงินเพื่อการโยกย้าย การสอบบรรจุครูผู้ช่วย รวมถึงกรณีการจัดซื้อครุภัณฑ์อาชีวศึกษา เป็นต้น” พล.อ.สุรเชษฐ์กล่าวและว่า เท่าที่รับฟังเสียงสะท้อนจากข้าราชการและคนในวงการศึกษาต่างรู้สึกดีใจที่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้ เพราะจะทำให้การทำงานมีความโปร่งใสและทำให้การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาเป็นไปได้ดีขึ้น.
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 2 กันยายน 2558