บอร์ด ก.ค.ศ.สั่งทบทวนเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะ ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน โละใหม่ไม่ยึดติดกับผลงานวิชาการ ให้ยึดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนเป็นหลัก
วันนี้ (31 ส.ค.) รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ซึ่งมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศธ. เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมได้ตั้งคณะอนุกรรมการวิสามัญเฉพาะกิจขึ้น เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะ หรือ เลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ และวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน หรือ PA (Performance Agreement) โดยมีตนเป็นประธาน เนื่องจากเห็นว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นการประเมินทางวิชาการด้วยการสอบมากเกินไป จึงให้ปรับวิธีการประเมินผลโดยไม่ยึดติดกับผลงานวิชาการ แต่ให้ไปยึดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนเป็นหลัก ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าว พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี อดีต รมว.ศธ.ได้มีการประกาศไว้ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.2558 ซึ่งจะมีขั้นตอนของการเข้าสู่การเลื่อนวิทยฐานะ คือ การกลั่นกรอง โดยการสอบวัดความรู้ ความสามารถใน 8 กลุ่มสาระวิชาการเรียนรู้
“ที่ประชุมเห็นว่าควรมีการทบทวนกระบวนการกลั่นกรองบุคคล เพื่อเข้าสู่กระบวนการทดสอบความรู้ความสามารถเชิงทฤษฎี และประเมินประสบการณ์วิชาชีพใหม่ เพราะเราไม่ต้องการครูที่มีแต่ความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องการครูที่มีความเชี่ยวชาญ และได้รับการยกย่องในรูปแบบอื่น ให้เข้ามารับการประเมินเพื่อเลื่อนวิทยฐานะได้ด้วย โดยแนวทางรูปแบบใหม่ ต้องลดภาระครู ไม่ดึงครูออกจากห้องเรียน เพราะหากครูต้องไปสอบก็เหมือนเป็นการดึงครูออกจากห้องเรียน ทั้งนี้ รมว.ศธ. ยังได้ยกตัวอย่าง ครูในจังหวัดชัยภูมิ ว่า เป็นครูอาวุโสมีผู้นับหน้าถือตามาก แต่ท่านอาจไม่เหมาะกับการสอบ เนื่องจากอายุมากแล้วแต่ก็มีความรู้ความสามารถในการสอน จึงเกรงว่าในลักษณะนี้อาจทำให้ครูเสียโอกาสไม่สามารถสอบแข่งขันกับเด็กรุ่นใหม่ได้” ปลัด ศธ.กล่าว.“
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 31 สิงหาคม 2558