สพฐ.เร่งวางรูปแบบกิจกรรมลดเวลาเรียน เบื้องต้นกำหนด 4 รูปแบบเตรียมนำเสนอ รมว.ศึกษาธิการ และเปิดเว็บไซต์สอบถามความเห็น นร.ต้องการกิจกรรมแบบใด พร้อมเตรียมจัดทำคู่มือรวมถึงตารางกิจกรรมการสอนให้ครูนำไปประยุกต์ใช้
เมื่อวันที่ 1 กันยายน ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบาย "การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" ซึ่งจะปรับลดเวลาเรียนวิชาการในชั้นเรียนถึงเวลาประมาณ 14.00 น.โดยช่วงเวลาต่อจากนั้นจะให้จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาเด็กให้เหมาะสมตามวัย เพื่อให้เด็กได้เรียนอย่างมีความสุข ซึ่งจะนำร่องในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ จำนวน 3,500 โรงเรียน ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 โดยจากนี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ 225 เขตจะเปิดรับสมัครโรงเรียนที่มีความพร้อมและสมัครใจเข้าร่วมโครงการ
ทั้งนี้ ในช่วงเช้านักเรียนจะได้เรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ส่วนช่วงบ่ายภายหลังเวลา 14.00 น.จะเป็นกิจกรรมที่เน้นปฏิบัติและบูรณาการ เบื้องต้น สพฐ.ได้กำหนดกิจกรรมให้โรงเรียนเลือกนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ทั้งสิ้น 4 กิจกรรม
1.กิจกรรมเสริมสร้างทักษะ ที่เน้นให้เด็กทำกิจกรรมนอกห้องเรียน เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เด็กได้เรียนรู้ในช่วงเช้าเพื่อให้เด็กมีทักษะและลงมือปฏิบัติจริง อาทิ การทำโครงงาน การวาดรูป เล่นละครประวัติศาสตร์
2.กิจกรรมเสรี จัดตามความเหมาะสมและความพร้อม อาทิ ชมรมจิตอาสา ชมรมกีฬา
3.กิจกรรมสอนอาชีพ โรงเรียนอาจชักชวนผู้ปกครอง หรือภูมิปัญญาชาวบ้านเข้ามาร่วมให้ความรู้และสอนอาชีพแก่นักเรียน รวมกิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาทักษะชีวิตด้วย และ
4.กิจกรรมสอนเสริมวิชาการ ดูแลเด็กที่มีปัญหาเรียนอ่อน หรือสอนการบ้าน ซึ่งการจัดกิจกรรมใดก็ตามต้องไม่เก็บเงินจากผู้ปกครอง
ทั้งนี้ สพฐ.ได้ตั้งคณะทำงานพร้อมจัดทำคู่มือการบริหารจัดการเรื่องการลดเวลาเรียนให้แก่สถานศึกษาได้นำไปเป็นแนวทางสู่การปฏิบัติ รวมถึงตารางกิจกรรมการเรียนการสอนให้ครูได้นำไปประยุกต์ใช้ จะเปิดเว็บไซต์รับฟังความคิดเห็นจากนักเรียนด้วยว่าอยากได้กิจกรรมรูปแบบไหนด้วย อาจจะเรียกประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา 225 เขต และโรงเรียนประถมศึกษาที่นำร่องในเรื่องดังกล่าวมารับฟังแนวปฏิบัติ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จในอนาคต
ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า โรงเรียนสังกัดสพฐ.กว่า 38,000 โรงเรียน เป็นโรงเรียนขนาดเล็กถึง 2 หมื่นกว่าแห่ง และมีครูไม่ครบชั้น โรงเรียนหนึ่งมีครูต่ำกว่า 6 คน และส่วนใหญ่ไม่ผ่านการประเมินจากสมศ. ที่รัฐควรเข้ามาดูแลและพัฒนาโดยเฉพาะเรื่องของการอบรมพัฒนาครู
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก