พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หารือกับนายแพทย์กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เกี่ยวกับรูปแบบของการจัดกิจกรรมตามนโยบาย "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" เมื่อวันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม 2558
รมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการหารือว่า สพฐ.ได้นำแผนการดำเนินงานเกี่ยวกับนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้มาเสนอ ซึ่งได้เตรียมการไว้แล้ว โดยมีรายละเอียดในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น ระยะเวลาเรียน จำนวนวิชาที่จะลด กิจกรรม มาตรการในการดูแลนักเรียนในช่วงของการทำกิจกรรม ตลอดจนวิทยากรผู้ให้ความรู้และค่าใช้จ่าย
ซึ่งนโยบายนี้เป็นเรื่องใหม่ จึงได้มอบให้ สพฐ. จัดประชุมสร้างความเข้าใจกับผู้อำนวยการโรงเรียนนำร่องทั้ง 3,500 โรงเรียนให้ครบทุกภูมิภาคภายในวันที่ 10 ตุลาคมนี้ โดยลงไปอธิบายด้วยตัวเองถึงแนวทางและมาตรการที่คุณครูจะต้องทำ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ จะใช้วิธีแจกเอกสารไม่ได้ จากนั้นผู้อำนวยการจะได้นำสิ่งเหล่านี้ไปทำความเข้าใจกับคุณครูในโรงเรียนต่อไป เพื่อให้สามารถเริ่มนโยบายได้ในช่วงเปิดภาคเรียนในเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป อย่างไรก็ตามจะมีการประเมินผลหลังปิดภาคเรียนที่ 2 หากสามารถแก้ไขปัญหาหรือข้อบกพร่องได้เร็ว ก็จะขยายผลออกไปทันที
ส่วนกรณีที่สื่อมวลชนหรือมีบางคนเข้าใจว่า นโยบายนี้เป็นการย้ายวิชาอื่นๆ เช่น วิชาพลศึกษาไปไว้ในช่วงบ่ายนั้น คงจะไม่ใช่ เพราะยังคงมีการเรียนวิชาพลศึกษาอยู่ แต่ในช่วงบ่ายหลังการเรียนในห้องเรียน จะเป็นการฝึกการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ เป็นการเรียนนอกห้องเรียนเพื่อให้เด็กอยู่และต่อสู้กับสังคมได้ผ่านกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ โดยจะเป็นกิจกรรมที่ดึงดูดความสนใจให้เด็กอยากทำและมีความสุข
โดยได้ให้แนวทางกับ สพฐ.เกี่ยวกับเมนูกิจกรรมที่จะให้คุณครูนำไปจัดกิจกรรมแก่เด็กๆ ว่า ควรเป็นเมนูแบบกว้างๆ มีจำนวนมากและมีความหลากหลาย เพื่อให้โรงเรียนได้เลือกใช้ตามความเหมาะสมกับสภาพในแต่ละพื้นที่ เช่น กิจกรรมโรงเรียนห่างไกล กิจกรรมโรงเรียนระดับอำเภอ เป็นต้น แต่สุดท้ายโรงเรียนจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกกิจกรรมเอง นอกจากนี้การทำกิจกรรมต่างๆ สามารถปรับเปลี่ยนได้เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว เช่น การสอนทำกับข้าวอาจใช้เวลาเพียงเดือนเดียว หรือบางกิจกรรมอาจเชิญชาวบ้านหรือปราชญ์ชาวบ้านมาช่วยสอนโดยมีค่าตอบแทนให้ด้วย เช่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงกิจกรรมที่จะช่วยเสริมสร้างทางด้านวิชาการให้กับเด็กโดยไม่รู้ตัว เช่น การดูหนังเรื่องพระนเรศวร เพื่อให้เด็กแสดงบทบาทสมมติ การฝึกเป็นผู้นำเด็ก/เป็นหัวหน้าห้อง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับเด็กที่เรียนอ่อนในวิชาหลักอยู่แล้ว แต่จะต้องทำกิจกรรมในช่วงบ่ายด้วยนั้น กระทรวงศึกษาธิการจะพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือ เพื่อเติมเต็มทางด้านวิชาการและให้สามารถเรียนตามเพื่อนได้ทัน จะไม่ทิ้งเด็กเหล่านี้อย่างแน่นอน
นโยบายนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา จึงขอให้ผู้ปกครองเชื่อใจว่า กระทรวงศึกษาธิการกำลังพยายามสร้างระบบการเรียนรู้แก่เด็กๆ เพื่อให้นักเรียนของเราดีขึ้น โดยยึดหลักกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ “ให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู” จึงดำเนินการจัดกิจกรรมในช่วงบ่ายที่จะทำให้เด็กและครูมีความสุข ทำให้ผู้ปกครองมีความสุข เมื่อนั้นก็จะเกิดความรักระหว่างกัน
ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการพยายามผลักดันและให้โอกาสทุกอย่าง แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ปกครอง หากผู้ปกครองมีความสุขที่จะให้ลูกทำกิจกรรม ก็จะช่วยดูแลให้ แต่หากผู้ปกครองมีความสุขหรือมีความจำเป็นที่จะให้เด็กกลับไปอยู่บ้านโดยไม่ทำกิจกรรมหรือจะไปเรียนพิเศษ ก็สามารถขออนุญาตและชี้แจงเหตุผลกับทางโรงเรียนได้ เพราะถือว่าเด็กเรียนวิชาหลักครบแล้ว ซึ่งต่อจากนี้ไปก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการที่จะต้องพิสูจน์ตัวเองและสร้างความมั่นใจกับผู้ปกครองให้ได้ว่า เมื่อจัดกิจกรรมตามนโยบายนี้แล้ว ผู้ปกครองจะเห็นว่าดีและไม่ส่งลูกไปเรียนพิเศษอีก.
ที่มา เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 31 สิงหาคม 2558