'ประยุทธ์'หนุนเลิกเรียนบ่ายสอง ให้ ร.ร.หากิจกรรมอื่นทำต่อ 'บิ๊กหนุ่ย' นัดถกตารางลดเวลาเรียน-เพิ่มกิจกรรม 31 สิงหาฯ ด้าน สพฐ.ยัน หลัง 14.00 น. ทำกิจกรรมเสริมต่อ ขณะที่นักวิชาการ-ผู้บริหาร ร.ร.หวั่นกระทบเข้ามหาวิทยาลัยถ้ายังเน้นข้อสอบยาก ครูวัดบางหญ้าแพรก ห่วงเด็กหนีเที่ยว-เล่นเกม เหตุพ่อแม่ยังไม่เลิกงาน
กรณี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบาย "การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" โดยจะนำร่องในโรงเรียนประถมศึกษา 3,500 โรง ในภาคเรียนที่ 2/2558 โดยให้ลดเวลาเรียนวิชาการถึงเวลา 14.00 น. และเปิดโอกาสให้นักเรียนทำกิจกรรมเสริมจนถึงเวลาเลิกเรียนปกติ เวลา 16.00-17.00 น. หรือหากผู้ปกครองคนใดมีความจำเป็นที่จะต้องรับนักเรียนกลับบ้าน ก็ทำได้ ภายหลังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ศึกษา โดยเห็นควรลดการเรียนวิชาหลักในระดับประถมศึกษาลง จากเดิมเรียน 1,200 ชั่วโมงต่อปี เหลือ 840 ชั่วโมงต่อปีนั้น
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า วันที่ 31 สิงหาคม พล.อ.ดาว์พงษ์ได้นัดหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายปรับลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ โดย สพฐ.จะนำเสนอตัวอย่างตารางการปรับลดเวลาให้พิจารณา โดยหลักการที่วางไว้จะให้เลิกเรียนวิชาหลักในเวลา 14.00 น. หลังจากนั้นให้ทำกิจกรรมเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้จนถึงเวลาเลิกเรียนตามปกติ ไม่ปล่อยให้เด็กกลับบ้านก่อนเวลา หากผู้ปกครองมีความประสงค์จะให้เด็กกลับบ้านจะต้องแจ้งโรงเรียนเป็นกรณีพิเศษเท่านั้น อาทิ ให้เด็กกลับไปดูแลผู้ปกครองหรือญาติที่เจ็บป่วย เป็นต้น สำหรับตารางลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาเรียนรู้ที่ สพฐ.จัดทำไว้ จะแบ่งเป็นช่วงเวลาก่อนเข้าห้องเรียน ให้นักเรียนฝึกปฏิบัติหน้าที่ ฝึกจิตสาธารณะ ฝึกวินัย และกิจกรรมหน้าเสาธง ช่วงเวลาเข้าห้องเรียนถึง 14.00 น. จัดกิจกรรมการเรียนรู้ 5 กลุ่มสาระฯ คือ ภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษา จากนั้นเป็นเวลานอกห้องเรียน โดยให้ครูจัดกิจกรรมบูรณาการตามกลุ่มสาระที่เหลือคือ สุขศึกษาและพลศึกษา การงานอาชีพและเทคโนโลยี ศิลปะ หรือให้นักเรียนทำการบ้านและเรียนรู้จากภูมิปัญญา โดยกิจกรรมเสริมทักษะทุกด้านจะไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายใดเพิ่มเติมจากนักเรียน
"หากรัฐมนตรีว่าการ ศธ.เห็นชอบตามตารางที่เสนอ สพฐ.จะนัดประชุมคณะทำงานชุดเล็กเพื่อวางระบบและจัดทำรูปแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับโรงเรียนแต่ละประเภท ซึ่งมีความแตกต่างกัน รวมถึงพัฒนาบุคลากรและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันผมได้สั่งการให้เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศเตรียมคัดเลือกโรงเรียนที่มีความพร้อมมา 10% ของโรงเรียนในเขตพื้นที่ฯ เข้าร่วมนำร่องเพื่อเริ่มดำเนินการให้ทันภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558" เลขาธิการ กพฐ.กล่าว
นางภาวิณี ศรีสุขวัฒนานันท์ อาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดีสำหรับโรงเรียนที่ยังคิดไม่ออกว่าจะปรับการเรียนการสอนให้เป็นไปในรูปแบบไหน แต่ตนไม่สนับสนุนให้ ศธ.เชิญครูจากทั่วประเทศมาประชุมร่วมกันเป็นกลุ่มใหญ่ เพราะคิดว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากโรงเรียนแต่ละแห่งมีบริบทที่แตกต่างกัน ส่วนผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่มีหน้าที่ดูแลในเรื่องนี้ควรทำความเข้าใจให้ชัดเจน เช่น ศึกษานิเทศก์ หรือเขตพื้นที่การศึกษา ต้องมีศักยภาพมากพอที่จะเข้าไปดูแลโรงเรียนต่างๆ อีกทั้งการสร้างเครือข่ายระดับโรงเรียนที่เป็นแบบอย่างดีๆ ให้รวมตัวกันเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้
นางนภารัตน์ ผาเพียว รักษาการรอง ผู้อำนวยการฝ่ายบริการ โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ จ.อุตรดิตถ์ กล่าวว่า เป็นโครงการที่ดีสำหรับนักเรียน เพราะปัจจุบันชั่วโมงการเรียนการสอนจะยาวนานถึงเวลา 16.30 น. จากนั้นนักเรียนยังต้องไปเรียนพิเศษต่ออีกจนถึงเวลา 20.00 น. หากนโยบายนี้ทำได้จริงน่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะหลังจากเรียนวิชาการมาจนถึงเวลา 14.00 น. นักเรียนจะได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรมเสริมต่อ อย่างโรงเรียนเทศบาลท่าอิฐจัดกิจกรรมฐานการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยทุกวันนี้จะใช้เวลาชั่วโมงเรียนมาทำกิจกรรม ถ้ามีโครงการนี้จะดีมาก เพราะเวลาที่จะทำกิจกรรมไม่ทับซ้อนกับเวลาเรียน
นางสิรินันท์ ศรีวีระสกุล ผู้อำนวยการ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ยังเร็วไปสำหรับการที่จะพูดว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ต้องดูก่อนว่าจะลดเวลาเรียนอย่างไร เวลาที่เหลือจะให้นักเรียนทำอะไร ถ้าดำเนินการที่ชัดเจนก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ทั้งนี้ การเรียนต่อระดับอุดมศึกษาต้องสอดคล้องกัน ไม่ใช่ว่าวางแผนเตรียมนักเรียนเพื่อที่จะให้มีพัฒนาการแบบนี้ แต่พอถึงระดับอุดมศึกษา กลับเอาแต่เนื้อหาสาระยากๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกัน สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดผลเลยถ้าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยยังยึดข้อสอบยากๆ เพราะการเปลี่ยนแปลงต้องเปลี่ยนทั้งระบบ รวมถึงมีการวิจัยหรือศึกษาควบคู่ไปด้วยว่าที่นำร่องไปเกิดผลมากน้อยแค่ไหน ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ ผลสุดท้ายนักเรียนออกมาตอบกับโจทย์ที่ต้องการ หรือไม่
น.ส.ณัฐกาญจน์ นุชประเสริฐ ครูโรงเรียนวัดบางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร กล่าวว่า การเลิกเรียนเวลาเดิมน่าจะเหมาะสมกว่า เพราะโดยปกติกิจกรรมอย่างชุมนุมหรือแนะแนว มักจะใช้เวลาชั่วโมงสุดท้ายอยู่แล้ว จึงอยากให้แก้ปัญหาด้านเอกสารที่มีปริมาณเยอะของครูมากกว่า เพราะเป็นปัญหาที่ทำให้ครูมีเวลาอยู่กับนักเรียนน้อยลง รวมถึงการเลิกเรียนที่เร็วขึ้น อาจมีผลกระทบกับนักเรียนบางคนที่ขอกลับบ้าน อย่างโรงเรียนวัดบางหญ้าแพรก ชุมชนโดยรอบเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ปกครองเลิกงานช้า เมื่อนักเรียนกลับไปบ้านก็ไม่มีใครดูแล อาจจะไปเที่ยวหรือสร้างภาระที่น่าเป็นห่วงได้
นายยุทธนา อาสาชัย หนึ่งในผู้ปกครองนักเรียนในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา กล่าวว่า คิดว่ามีทั้งผลดีและผลเสีย เนื่องจากผลเสียจะทำให้ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเมื่อนักเรียนเลิกเรียน 14.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ไม่ตรงกับผู้ปกครองเลิกทำงานในเวลา 16.30-17.00 น. ดังนั้นก็จะทำให้ผู้ปกครองต้องมีการจ่ายค่ารถรับส่งนักเรียนจากโรงเรียนไปบ้าน หรือเปิดช่องทางสถานศึกษาหรือครูเปิดสอนพิเศษ และเก็บเงินค่าสอนพิเศษ อีกทั้งอาจส่งผลให้นักเรียนบางกลุ่มใช้บริการร้านอินเตอร์เน็ตหรือร้านเกมเพิ่มมากขึ้น
นายเสน่ห์ สุขนาคินทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านประโดก-โคกไผ่ ฐานะแกนนำโรงเรียนประถมใน จ.นครราชสีมา กล่าวว่า สภาพแวดล้อมของสถานศึกษาในเขตชนบทไม่มีแหล่งเรียนรู้มากมายเหมือนในเขตเมือง หากเลิกเรียนเร็ว นักเรียนก็จับกลุ่มเล่นสนุกสนานกันตามประสา หรือเข้าร้านเกมอินเตอร์เน็ต ซึ่งตั้งอยู่รายล้อมสถานศึกษา ครูจะไปห้ามก็ไม่ได้เพราะโรงเรียนเลิกแล้ว มีส่วนน้อยมากๆ ที่อาจชักชวนทำการบ้านหรือติววิชาที่เรียนมา ที่สำคัญผู้ปกครองส่วนใหญ่จะเลิกงานประจำช่วงเย็น ระยะเวลา 2-3 ชั่วโมง ที่ปล่อยให้เด็กกลับบ้าน ใครจะควบคุมดูแล ควรให้เลิกตามปกติ มาแก้ปัญหาที่ถูกจุด ซึ่งกำลังบั่นทอนการเรียนการสอนจะดีกว่า
ด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สนับสนุนแนวทางปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม โดยนโยบายหนึ่งคือการลดระยะเวลาการเรียนภาควิชาการลง โดยให้เลิกในเวลา 14.00 น. แต่ทั้งนี้ต้องไม่กระทบเนื้อหาหลักที่เด็กๆ ควรเรียนรู้ เวลาที่โรงเรียนเลิกยังคงเป็นเวลาเดิมตามกำหนดของแต่ละแห่งซึ่งมักจะเป็นช่วง 16.00 น. เป็นต้นไป โดยช่วงเวลาตั้งแต่ 14.00 น. จนกว่าจะถึงเวลาโรงเรียนเลิก ทางโรงเรียนจะจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ให้นักเรียนแทน ทั้งนี้ ท่าน นายกฯฝาก สพฐ.ว่าควรจัดกิจกรรมหลากหลายที่ช่วยเพิ่มพูนทักษะการคิดวิเคราะห์ ความมีน้ำใจต่อกัน การทำงานเป็นทีม และที่สำคัญควรมีกิจกรรมกระตุ้นให้เด็กได้ค้นหาศักยภาพและความชอบของตนเอง เพราะนายกฯเชื่อว่าเด็กทุกคนมีความพิเศษ มีความสามารถในแบบฉบับของตนเอง
พล.ต.สรรเสริญกล่าวอีกว่า นายกฯแนะนำว่าการจัดกิจกรรมไม่จำเป็นต้องเปิดให้เฉพาะห้องเดียวกันหรือระดับชั้นเดียวกัน บางกิจกรรมสามารถศึกษาหรือทำร่วมกันหลายระดับชั้นได้ เพื่อให้เด็กๆ รู้จักการปรับตัว การช่วยเหลือดูแลกัน การมีปฏิสัมพันธ์กับคนหลายช่วงวัย ซึ่งเป็นการจำลองสภาพจริงในสังคมให้เด็กได้เรียนรู้ ซึ่งจะยิ่งช่วยเพิ่มทักษะในการแก้ปัญหาให้กับเด็กไทย และอยากให้ผู้ปกครองสบายใจว่า มิใช่ โรงเรียนจะเลิกเร็วแล้วกลายเป็นผลักภาระให้ผู้ปกครอง โรงเรียนยังคงต้องทำหน้าที่ให้การศึกษา แต่เป็นการศึกษาที่ไม่ได้เน้นแค่วิชาการ จนขาดทักษะด้านอื่นที่จำเป็นและสำคัญมากคือ ทักษะการใช้ชีวิตและการรู้จักตนเอง
ที่มา มติชน ฉบับวันที่ 1 ก.ย. 2558 (กรอบบ่าย)