ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊คชื่อ ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2558 เรื่อง เขาห้ามผมทำ แต่ไม่ห้ามผมคิด ตอนที่ 10 : เมื่อโรงเรียนเป็นนิติบุคคลแล้วประชาชนได้อะไร มีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจ ดังนี้ครับ
ขณะนี้ได้มีการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสถานศึกษาที่น่าสนใจอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ การเสนอร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมสถานศึกษานิติบุคคลในกำกับ พ.ศ.......
สาระสำคัญก็คือ จะเปลี่ยนสถานศึกษาที่มีความพร้อมด้านสภาพแวดล้อม ขนาดสถานศึกษา ความสามารถในการระดมทรัพยากร คุณภาพสถานศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาและครูมีความเต็มใจที่จะออกนอกระบบ แต่ยังอยู่ในกำกับของรัฐ สถานศึกษาดังกล่าวตามกฎหมายนี้เป็นสถานศึกษาที่เปิดสอนในระดับต่ำกว่าปริญญา (อนุบาล - อนุปริญญา) สามารถเก็บค่าเล่าเรียนได้ แต่ต้องมีการยกเว้น/ให้ทุนเด็กด้อยโอกาส ตั้งงบประมาณเอง จัดทำบัญชีรายจ่ายแบบเกณฑ์คงค้าง มีอำนาจในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ จำหน่าย และจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของสถานศึกษา กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรับนักเรียน เลือกบุคลากรมาเป็นครูและเจ้าหน้าที่สายสนับสนุนการสอนได้เอง กำหนดอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนได้เอง
บุคลากรในสถานศึกษา มี 3 ประเภท คือ 1) เจ้าหน้าที่/ลูกจ้าง 2) ที่ปรึกษา/ผู้เชี่ยวชาญ 3) เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ช่วยราชการในช่วงเปลี่ยนผ่านบุคลากรยังมีสถานะเดิม แต่ภายใน 5 ปี ต้องพ้นจากการเป็นข้าราชการและพนักงานราชการ สถานศึกษาจะมีคณะกรรมการบริหารสถานศึกษา (School Board) ที่เข้มแข็ง จะเป็นผู้สรรหา แต่งตั้ง ถอดถอน ผู้อำนวยการบริหารสถานศึกษา ซึ่งผู้อำนวยการฯต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปี อยู่ได้ 2 วาระ ๆ ละ 4 ปี อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ คณะกรรมการฯ จะเป็นผู้กำหนด ซึ่งจะไม่ต่ำกว่าเดิม จะมีการประเมินบุคลากรทุก ๆ 6 เดือน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการฯ กำหนด
เป็นอย่างไรบ้างครับ น่าสนใจไหม ผมคิดว่าผลที่เกิดขึ้นจากการจัดการศึกษาของสถานศึกษาลักษณะนี้ ต้องดีอย่างแน่นอน เพราะสถานศึกษามีอำนาจ คิดเอง ทำเองได้มากกว่าปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องการบริหารงบประมาณและบุคลากร ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรกรัฐจะดูแลช่วยเหลือไปก่อน เข้าทำนอง "รับเงินจากรัฐ แต่บริหารแบบเอกชน" แต่พอเลย 5 ปีไปแล้ว สถานศึกษาต้องระดมทรัพยากรเอง บริหารจัดการตัวเอง การปฏิบัติงานต้องปฏิบัติตามข้อตกลง (Performance Agreement : PA) ลดหลั่นกันไป ผู้อำนวยการบริหารสถานศึกษาทำ PA กับคณะกรรมการฯ ครูและเจ้าหน้าที่ทำ PA กับผู้อำนวยการ บุคลากรในสถานศึกษาทุกคน คงตั้งอกตั้งใจทำงานมากกว่าเดิม เพราะประเมินทุก 6 เดือน และค่าตอบแทน ประมาณกันว่าราวๆ 1.7 เท่าของรายได้ปัจจุบัน โจทย์ที่ต้องขบคิดขณะนี้ก็คือ ต้องสร้างความมั่นใจในสิ่งที่จะมาทดแทนสิ่งที่ข้าราชการเคยได้ เช่น สิทธิการรักษาพยาบาล เครื่องราชย์อิสริยาภรณ์และบำเหน็จบำนาญ เป็นต้น หากมีข้อเสนอที่ทำให้บุคลากรในสถานศึกษามั่นใจในเรื่องเหล่านี้ ผมคิดว่ากฎหมายฉบับนี้คงผ่านไปได้ด้วยดี และบุคลากรในสถานศึกษาก็เต็มใจที่จะออกนอกระบบ ผู้เรียนคงมีคุณภาพสูงขึ้นตามข้อตกลง ที่ตกตกลงกันไว้