การแถลงนโยบายด้านการศึกษา ของพลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, 27 สิงหาคม 2558
พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยพลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารฝ่ายการเมือง ร่วมแถลงนโยบายด้านการศึกษาผ่านระบบ Video Conference จากห้องประชุมชั้น 9 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม 2558 ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ พร้อมทั้งเชื่อมสัญญาณถ่ายทอดสดไปยังอินเทอร์เน็ต และห้องประชุมต่างๆ ภายในกระทรวงศึกษาธิการพร้อมกัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ขอปวารณาตัวที่จะทำงานร่วมกันกับทุกท่านในกระทรวงศึกษาธิการ โดยขอเชิญชวนผู้บริหารทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค หลับตานึกย้อนอดีตเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยของเรา จนเป็นเหตุให้รัฐบาลชุดนี้เข้ามาทำงาน ถือว่าเป็นการเข้ามาในสภาวการณ์ที่ไม่ปกติ เพื่อมายุติความขัดแย้งและปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งในส่วนของการศึกษานั้น ถือว่าเป็นพื้นฐานของการปฏิรูปในทุกเรื่อง เริ่มจากการปฏิรูป 11 ด้านของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพราะการปฏิรูปการศึกษาจะเป็นพื้นฐานของความยั่งยืนในการปฏิรูปประเทศซึ่งต้องใช้เวลานานและมีแผนงานทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง ระยะยาว งานของกระทรวงศึกษาธิการจึงต้องมีแผนปฏิรูปทั้ง 3 ระยะเช่นกันด้วย
ดังนั้น ขอให้ทุกคนตระหนักว่าห้วงเวลานี้ไม่ใช่ห้วงเวลาปกติที่ทุกคนจะทำงานแบบปกติ แต่ต้องทำงานแข่งกับเวลา ขอให้ละทิ้งความขัดแย้งและหันมามองนักเรียนตัวน้อยๆ ซึ่งก็คือลูกหลานของเรา เพื่อปฏิรูปงานด้านการศึกษา อันจะส่งผลให้ลูกหลานของเรามีชีวิตที่สดใสและสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้
ต่อจากนี้ อาจจะต้องรบกวนเวลาทุกคนมากขึ้น เพราะมีงานเร่งด่วนที่จะต้องทำ มีงานที่ต้องการผลลัพธ์มากขึ้นและเร็วขึ้น โดยภายหลังรับฟังนโยบายแล้ว ขอให้หัวหน้าส่วนราชการแปลงนโยบายไปสู่แผนงานในขอบเขตความรับผิดชอบของตนเอง
จุดเน้นและแนวทางในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษา ประกอบด้วย 2 ส่วน
1. กระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“ให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู”
“ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกัน แต่ให้แข่งกับตัวเอง ให้เด็กที่เรียนเก่งกว่า ช่วยสอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า”
“ให้ครูจัดกิจกรรมให้เด็กทำร่วมกัน เพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี”
|
2. นโยบายนายกรัฐมนตรี
1) ทำให้เร็ว มีผลสัมฤทธิ์ภายในเดือนกันยายน 2559 ให้มากที่สุด ที่เหลือส่งต่อให้รัฐบาลต่อไป
2) ประชาชน สังคมพึงพอใจ ประเทศได้คนมีคุณภาพ
3) ปรับ ลดภาระงานที่ไม่จำเป็นของกระทรวงศึกษาธิการลง
4) เร่งปรับหลักสูตร/ตำราแต่ละกลุ่มให้เหมาะสม การพิมพ์ตำราต้องคุ้มราคา
5) ผลิตคนให้ทันกับความต้องการของประเทศ จบแล้วต้องมีงานทำ เข้าทำงาน AEC ให้ทันปีนี้ ช่วยแก้ไขปัญหาว่างงาน และปัญหาสังคมได้
6) ปรับหลักสูตร ทำให้เด็ก ครู ผู้ปกครองมีความสุข
7) ใช้สื่อการสอน กระตุ้นผู้เรียนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้กับเด็ก
8) ลดความเหลื่อมล้ำ จัดการศึกษาให้ทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ
9) นำระบบ ICT เข้ามาใช้จัดการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรมและกว้างขวาง
10) เรียนไม่ใช่เพื่อสอบ แต่เรียนให้ได้ทักษะชีวิต อยู่ในยุคโลกไร้พรมแดน
นโยบายด้านการศึกษา
นโยบายทั่วไป
1. การจัดทำแผนงานโครงการเริ่มใหม่
- ต้องเข้าใจจุดหมายว่าทำเพื่ออะไร
- ต้องวาดภาพงานลงในรายละเอียดให้เห็นว่า อะไรคืองานหลัก แล้วมีงานรองอะไรบ้างที่ต้องทำเพื่อให้บรรลุงานหลัก อะไรที่ต้องทำก่อน อะไรที่ต้องทำที่หลัง
- ต้องมีฐานข้อมูลที่แน่น เช่น จะผลิตนักศึกษาอาชีวะ ต้องรู้ว่าตลาดต้องการสาขาอะไรบ้าง แต่ละสาขา ต้องการกี่คน ฐานข้อมูลที่ดีจะทำให้การวิเคราะห์แม่นยำ
2. การปรับปรุงแผนงาน/โครงการเดิมที่ไม่สัมฤทธิ์ผล
- หาปัญหาที่ผ่านมาทำไมทำไม่สำเร็จ เช่น ปัญหาอยู่ที่อายุของนักเรียน ปัญหาอยู่ที่ครู ปัญหาอยู่ที่พ่อแม่ ปัญหาอยู่ที่สภาวะแวดล้อม เพราะบางครั้งไม่สามารถแก้ได้ด้วยวิธีใดวิธีเดียว
3. แผนงาน/โครงการพระราชดำริ
- โครงการอะไรบ้างที่กระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวข้องหรือรับผิดชอบโดยตรง
- โครงการไหน เป็นดำริของพระองค์ใด ทำแล้ว และกระทรวงศึกษาธิการให้การสนับสนุนอย่างไร
4. งบประมาณ
- โดยเฉพาะงบลงทุน ให้วางแผนโครงการในงบลงทุนในไตรมาสแรกมาเลย
- การเสนองบกลางให้เฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การทำแผนงานโครงการบางอย่างไม่ต้องใช้งบประมาณใช้งบปกติที่ได้รับ และการปรับแผนงานที่ไม่ได้ผลสัมฤทธิ์
- โปร่งใส ตรวจสอบได้
- ในงานบางโครงการต้องมีการบูรณาการงบประมาณข้ามแท่ง ก่อนไปบูรณาการกับสำนักงบประมาณ
5. เน้นการสื่อสารภายในและภายนอกองค์กร
- จัดให้มีช่องทางการสื่อสารอย่างเป็นระบบ นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย (การประชุมทางไกล โปรแกรมไลน์ ฯลฯ) เพื่อใช้ในการสร้างความเข้าใจในองค์กร สามารถถ่ายทอดคำสั่งไปยังหน่วยรองได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว สามารถรายงานเหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็ว
- ทุกหน่วยต้องจัดให้มีแผนการประชาสัมพันธ์ ทั้งเสมาสนเทศ และประชาสนเทศ
6. อำนวยการเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน
- เช่น การเกิดอุบัติเหตุในโรงเรียน/นอกโรงเรียน, ผู้บริหารถูกกล่าวหา, การรวมตัวกันต่อต้านผู้อำนวยการโรงเรียน นักเรียนปวดท้องอาเจียนยกชั้น โรงเรียนถูกขู่วางระเบิด เกิดวาตภัย ฯลฯ ให้ทุกหน่วยไปกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติ (อาจจะมีอยู่แล้วให้ไปปรับปรุงหรือทำการซักซ้อม) อย่างน้อยต้องมีรายละเอียด
- ใครต้อง Take Action
- การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ระยะสั้น และระยะยาวทำอย่างไร
- การรายงานด่วน ฯลฯ
7. การร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม
- ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมให้ครบวงจร เช่น เข้ามาร่วมกำหนดหลักสูตร
- การรับนักเรียนเข้าไปทำงานขณะที่ยังศึกษาอยู่ การรับนักเรียนเมื่อจบการศึกษา
8. จะให้ความสำคัญกับการบริหารงานส่วนภูมิภาคและเขตพื้นที่ต่างๆ ของแต่ละแท่งเข้าทำงาน
- ทบทวนบทบาทหน้าที่
- สิ่งใดที่ต้องรู้ และยังไม่รู้
- สิ่งอำนวยความสะดวกพอเพียงหรือไม่
9. โครงการจัดอบรมสัมมนา ต้องตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ ใครควรเข้าร่วมการสัมมนา
- ผลลัพธ์ที่ต้องการ เนื้อหาต้องสัมพันธ์กับเวลา
10. ยกระดับมาตรฐานภาษาอังกฤษในทุกหลักสูตร
11. ให้มีการนำ ICT เข้ามาใช้ในการบริหารงานในกระทรวงอย่างกว้างขวาง
- ปัจจุบันได้ดำเนินการศูนย์ศึกษาทางไกล (DL Thailand) ให้บูรณาการเข้ากับสถานีวิทยุเพื่อการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ (ETV) และเครือข่ายของอุดมศึกษาโดยใช้เป็นช่องทางในการสื่อสาร เพื่อใช้ในการจัดการศึกษา การเสมาสนเทศ และการประชาสนเทศ
12. ให้ความสำคัญกับเทคนิคการสอนและการสื่อ
13. ให้ความสำคัญกับบรรยากาศในการทำงาน
- ให้ความสำคัญกับการประดับธงประจำพระองค์ของพระราชวงศ์ไทย และธงชาติไทยในหน่วยงานและสถานศึกษาต่างๆ
- ความสะอาดในพื้นที่รับผิดชอบทุกระดับในเขตพื้นที่
- การรักษาความปลอดภัย
- แผนเผชิญเหตุ
14. ให้ลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอนของครู
- เพื่อให้ครูมีเวลาทุ่มเทให้กับการเรียนการสอนของนักเรียนอย่างจริงจัง
15. การประเมินเพื่อความก้าวหน้าต้องสอดคล้องกับผลการพัฒนาผู้เรียน ทั้งความรู้และคุณลักษณะและทักษะชีวิต
16. การแก้ไขปัญหาการจัดการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ
- โครงการเร่งรัดการขับเคลื่อนตามแผนการจัดการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะโครงการสานฝันการกีฬาสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้
17. ให้ลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอน การนำเด็กนักเรียน ครู ออกนอกห้องเรียน
- สามารถดำเนินการได้ หากเป็นการทัศนศึกษาหรือเสริมสร้างประสบการณ์ เช่น รำอวยพร การแสดง
- ไม่มีนโยบายให้ครู นักเรียน ต้องออกไปยืนต้อนรับผู้บริหาร
นโยบายด้านการอาชีวศึกษา (สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา)
1. การเปลี่ยนค่านิยมอาชีวะของผู้ปกครองและนักเรียนให้หันมาเข้าสู่ระบบอาชีวะมากยิ่งขึ้น
- ทวิศึกษา เป็นการจัดการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จบแล้วได้วุฒิการศึกษา 2 ใบ สามารถออกไปประกอบอาชีพได้
- ความร่วมมือกับสถานประกอบการ เป็นการจัดการศึกษาระหว่างสถานประกอบการและสถานศึกษา โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติจริงและเมื่อจบการศึกษาแล้ว สามารถประกอบอาชีพได้ทันที
- การลดเรื่องการทะเลาะวิวาท เพื่อสร้างความปลอดภัย
- ให้ความสนใจกับนักศึกษาทุกคนอย่างทั่วถึง
- ให้โอกาสนักศึกษาเข้าฝึกงานในสถานประกอบการ เพื่อเป็นการสร้างนิสัยในการรักการประกอบอาชีพ การตรงต่อเวลา ความอดทน ความมั่นใจตนเอง และมองถึงอนาคตข้างหน้า
2. การทำให้วิทยาลัยอาชีวะมีความเป็นเลิศเฉพาะด้าน
- ให้มีการจัดการศึกษาทางด้านเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์
- การจัดการศึกษาด้านปิโตรเคมี
- การท่องเที่ยว โรงแรม อาหาร มัคคุเทศก์
- การจัดหลักสูตรเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศด้านสาธารณูปโภค และอื่นๆ เช่น การเปิดสอนหลักสูตรเกี่ยวกับระบบราง หลักสูตรการซ่อมแซมยุทโธปกรณ์ และหลักสูตรเกี่ยวกับการบิน
3. จัดการศึกษาอาชีวะมาตรฐานสากล
- การจัดการอาชีวศึกษาอาเซียน ร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียน รวมทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และยุโรปบางประเทศ ได้แก่ อังกฤษ เดนมาร์ก เยอรมัน
นโยบายด้านการอุดมศึกษา (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา)
1. กำหนดบทบาทการผลิตนักศึกษาให้ชัดเจน ตามความถนัดและความเป็นเลิศของแต่ละสถาบัน เพื่อลดความซ้ำซ้อน
2. Outcome ที่สถาบันอุดมศึกษาควรมี เช่น การวิจัยพัฒนาจนเกิดเป็นนวัตกรรมที่เกิดจากทรัพยากรท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าการส่งออกของประเทศ
3. สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้แก่โรงเรียนในการพัฒนาท้องถิ่น
นโยบายด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน)
1. การแก้ไขปัญหาเด็กประถม อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้
- ปรับปรุงวิธีการเรียนการสอนที่เห็นผลสัมฤทธิ์ชัดเจน เช่น การสอนแบบแจกลูกสะกดคำโดยใช้แนวการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการสมอง (BBL)
- กำหนดเป้าหมายให้นักเรียนชั้น ป.1 ต้องอ่านออกเขียนได้ ชั้น ป.2 ขึ้นไปต้องอ่านคล่องเขียนคล่อง เป็นต้น
2. การดูแลเด็กออกกลางคัน
- การดูแลเด็กออกกลางคันให้ได้รับการศึกษาภาคบังคับ เช่น ต้องมีฐานข้อมูลเรื่องนี้ หากเด็กจบออกไปต้องมีระบบติดตามดูแล และหากเด็กออกไปทำงานที่ใด ต้องสนับสนุนให้เรียนต่อในสถานศึกษาของ กศน.
3. ปรับปรุงหลักสูตร
- การลดเวลาเรียน ลดการบ้านนักเรียน ให้นักเรียนเรียนอย่างมีความสุข แต่ไม่ใช่เวลาเหลือแล้วไปจัดกิจกรรมที่เพิ่มภาระหรือเพิ่มการบ้านให้นักเรียนอีก
- ไม่ใช่การเรียนเพื่อมาสอบอย่างเดียว
- ต้องสร้างภูมิต้านทานให้กับเด็กยุคโลกไร้พรมแดน ให้นักเรียนคิด/ปฏิบัติมากกว่าท่องจำ
4. การแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก
- การแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูสอนไม่ครบชั้นเรียน
- ใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLIT) อย่างจริงจังเต็มรูปแบบ ส่งเสริมสนับสนุนโรงเรียนไกลกังวลให้เป็นโรงเรียนต้นทางที่มีคุณภาพ
5. การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
- ใช้โครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทางไกล DLTV และผ่าน ICT ด้วย DLIT
6. การประเมินครู/นักเรียน/โรงเรียน
- การประเมินครู/นักเรียน/โรงเรียน หาความสมดุล ระหว่างการควบคุมคุณภาพการศึกษากับภาระงานของครูที่ต้องเพิ่มขึ้น ตลอดจนปรับปรุงการคัดสรรครู ผู้บริหาร การประเมินวิทยฐานะให้เหมาะสม อาจจัดโมบายทีมจากส่วนกลาง เพื่อลดภาระครูหรือนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย
7. การดูแลรักษาสิ่งก่อสร้างและครุภัณฑ์ในหน่วยงานและสถานศึกษา
- ควรจัดให้มีระบบในการดูแลรักษาสิ่งของทั้งหมดอย่างแน่นหนา ไม่ว่าจะเป็นอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ ตลอดจนครุภัณฑ์ต่างๆ ประกอบด้วย 1) ระบบการจัดหา-แจกจ่าย โดยจะต้องมีตรรกะ-มีเหตุมีผลในการแจกจ่าย ไม่ใช่แจกจ่ายตามความเสน่หา จะทำให้เกิดการเลียแข้งเลียขากัน เป็นเรื่องที่ไม่ดี 2) ระบบการซ่อมบำรุง ควรตั้งทีมเฉพาะขึ้นมาเพื่อบำรุงดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องทุกวงรอบการใช้งาน พร้อมทั้งมีการรายงานผลการตรวจด้วย โดยเฉพาะยานพาหนะจะต้องมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน เพื่อให้การบำรุงรักษามีความต่อเนื่อง 3) การจำหน่าย เพื่อที่จะได้จัดซื้อทดแทน
8. การดูแลเรื่องสวัสดิการ
- ให้ความสำคัญกับการบรรจุ โยกย้าย เลื่อนตำแหน่ง วิทยฐานะ
- การแก้ไขปัญหาหนี้สินครูจำนวนกว่าล้านล้านบาท ขณะนี้ได้มีการวางแนวทางและจัดระบบแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ร่วมกับธนาคารออมสินแล้ว จึงขอฝากให้ครูใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิต รู้จักใช้ รู้จักเก็บ ไม่แก่งแย่งแข่งขันกัน ขอให้ครูพยายามลดหนี้ลง ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างจิตสำนึกในการใช้จ่ายให้กับลูกหลานของตัวเองด้วย
9. การขยายโครงการธนาคารขยะในสถานศึกษา
- ปลูกฝังการคัดแยกขยะและทิ้งขยะให้ถูกที่แก่นักเรียน นิสิตนักศึกษาในทุกระดับการศึกษาและทุกสังกัด
- ขยายโครงการธนาคารขยะในโรงเรียนสังกัด สพฐ. 38,000 แห่งทั่วประเทศ โดยมอบ สพฐ.ศึกษารายละเอียดเพื่อหาแนวทางขยายโครงการธนาคารขยะให้ครบทุกโรงเรียนภายในปี 2558
นโยบายด้านการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย)
1. การจัดการศึกษาเพื่อขยายโอกาสทางการศึกษา และส่งเสริมให้ประชาชนที่พลาดโอกาสทางการศึกษาในระบบโรงเรียน
- ทั้งในระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย
2. เร่งสร้างค่านิยมอาชีวศึกษา
- โดยจัดโครงการเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษา และมัธยมศึกษาตอนปลายของสำนักงาน กศน. เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษาให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน
3. จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้
- เพื่อให้คนทุกช่วงวัยได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ
4. ดำเนินการปลูกฝังและสร้างอุดมการณ์ให้นักศึกษา กศน.และประชาชน มีความตระหนักในความเป็นชาติ กระตุ้นให้เกิดความรักชาติ และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์
5. กำหนดให้ กศน.ตำบล เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเชื่อมประสานระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน
6. พัฒนาคนทุกช่วงวัย
- โดยส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้สามารถมีความรู้และทักษะใหม่ที่สามารถประกอบอาชีพได้หลากหลายตามแนวโน้มการจ้างงานในอนาคต
แนวทางการทำงาน
Hit the Point Dynamic Lively
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้แนวทางการทำงาน 3 ลักษณะ เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาข้างต้นทั้งหมด ได้แก่
- ทำงานแบบ Hit the Point กล่าวคือ งานทุกงานต้องฉีกปัญหาให้ขาด ตีโจทย์ให้แตก ตลอดจนหากิจเฉพาะและกิจแฝงให้เจอ เพื่อที่จะได้แก้ไขปัญหาได้ตรงจุด
- ทำงานแบบ Dynamic หมายถึงการขับเคลื่อนงานตลอดเวลา หยุดไม่ได้ เมื่อมีการสั่งงานไปแล้ว จะไม่หยุดนิ่งอย่างแน่นอน จะขับเคลื่อนงาน ดูแล และช่วยแก้ปัญหา หากงานนั้นต้องข้ามแท่ง ก็จะต้องข้าม อย่าไปหยุดและจะไม่มีหยุด
- ทำงานแบบ Lively คือการทำงานแบบมีชีวิตจิตใจ ซึ่งการจะทำงานแบบนี้ได้ ผู้ร่วมงานต้องมีความเข้าใจเนื้องานตรงกับเรา จึงพยายามที่จะสร้างให้ทุกท่านเข้าใจเนื้องานที่จะทำ สร้างให้เห็นประโยชน์ร่วมกันกับสิ่งที่กำลังทำ เมื่อเข้าใจตรงกันและเห็นประโยชน์ร่วมกัน เราก็จะมีความสุขที่จะทำ เพราะใจเราจะไม่ต่อต้าน ถึงแม้จะเหนื่อยแต่ก็มีความสุข และจะมีชีวิตจิตใจในการทำงาน
ทั้งนี้ ต้องการให้เกิดการขับเคลื่อนร่วมกันทุกระดับชั้น ตั้งแต่ผู้บริหารองค์กรหลัก ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จนถึงผู้อำนวยการสถานศึกษาต่างๆ ที่จะต้องขับเคลื่อนตามกันไปทั้งหมด
ที่มา เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 29 สิงหาคม 2558
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร - สรุป/รายงาน