"สพฐ." ย้ำปรับลดเวลาเรียนเป็นไปตามข้อเรียกร้องสังคม ที่ห่วงเด็กไทยเรียนมากเกินไป โดยลดการเรียนวิชาหลัก ให้เด็กมีเวลาทำกิจกรรมมากขึ้น แต่ยังเลิกเวลา 15.30 น.เหมือนเดิม
วันนี้ (28 ส.ค.) ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เปิดเผยถึงนโยบายการปรับลดเวลาเรียนของพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ ว่า การปรับลดเวลาเรียนโดยเลิกเรียนเวลา 14.00 น.เป็นไปตามข้อเรียกร้องของสังคมที่มองว่าเด็กเรียนมากเกินไป สพฐ.จึงปรับลดเวลาเรียนลงโดยในช่วงเช้าจนถึงเวลา14.00 น.จะเรียนวิชาหลัก หลังจากนั้นจะให้เด็กเรียนวิชาที่ต้องลงมือปฏิบัติ อาทิ ศิลปะ นาฎศิลป์ ดนตรี พลศึกษา การงานพื้นฐานอาชีพ หรือทำกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต อาทิ สอนว่ายน้ำ ทำกับข้าวเรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้าน รวมทั้งการสอนเสริมโดยเฉพาะการสอนทำการบ้านที่จะช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง ซึ่งแต่ละโรงเรียนไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกัน โดยเร็วๆนี้ สพฐ.จะเชิญ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษาและผอ.โรงเรียนมาประชุมเพื่อร่วมกันออกแบบการจัดตารางกิจกรรมการเรียนรู้ซึ่งจะมีประมาณ 6-7 รูปแบบให้โรงเรียนนำร่องได้เลือกใช้ตามความสมัครใจคาดว่ากลางเดือนกันยายนนี้น่าจะได้รูปแบบที่ชัดเจน
“ผมยืนยันว่าเลิกเรียนบ่าย 2 โมงแล้วสพฐ.ไม่ได้ให้ปล่อยเด็กออกนอกโรงเรียน หรือให้ผู้ปกครองมารับกลับบ้าน เพราะเข้าใจความจำเป็นของผู้ปกครองที่ต้องทำงาน ดังนั้นเวลาเลิกเรียนยังคงเหมือนเดิม คือ 15.30 น.แต่ในระหว่างนี้จะให้เด็กทุกคนได้ทำกิจกรรมเสริมความรู้เพื่อพัฒนาทักษะทางด้านสังคม อารมณ์ และร่างกาย เพิ่มเติมจากเรื่องของสติปัญญายกเว้นเด็กที่มีความจำเป็นต้องกลับไปช่วยผู้ปกครองทำงานซึ่งก็จะมีเพียงเล็กน้อย”เลขาธิการ กพฐ. กล่าวและว่า เรื่องนี้ประเทศญี่ปุ่น อเมริกาและในยุโรปก็ทำอยู่ ส่วนที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าเด็กเรียนน้อยความรู้จะหดหายหรือไม่นั้น ที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนว่าเด็กเรียนมากแต่ไม่ได้เอาไปใช้ สพฐ.จึงปรับลดเวลาเรียนวิชาหลักลงแต่ยังคงเนื้อหาไว้ ส่วนที่เหลือนักเรียนจะต้องไปหาความรู้เพิ่มเติมโดยการลงมือค้นคว้าและทำกิจกรรม ทั้งนี้รมว.ศึกษาธิการได้กำชับว่าทุกกิจกรรมที่ทำห้ามเรียกเก็บเงินจากนักเรียนทุกกรณี หากมีการเรียกเก็บเงินจะถือว่ามีความผิด.
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 28 สิงหาคม 2558