"ดาว์พงษ์" สั่งผู้บริหารทั่วประเทศ ยึดพระราชดำรัสในหลวง เป็นคัมภีร์ คิดแผนตีโจทย์ ส่งการบ้านภายใน 7 วัน เผยรัฐบาลเล็งตั้งคตร.ทุกกระทรวงคุมใช้งบโปร่งใส
วันนี้( 27 ส.ค.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวมอบนโยบายแก่ผู้บริหาร ศธ.และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศผ่านระบบทางไกลหรือวิดีโอคอนเฟอร์เร้น ว่า ขอให้หัวหน้าส่วนราชการตั้งแต่ระดับ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา แปลงนโยบายออกมาเป็นงานในเขตความรับผิดชอบของตนเองและส่งการบ้านให้ตนภายใน 7 วัน ว่า
1.ขณะนี้ทำอะไรอยู่บ้าง
2. ปรับปรุงงานตามนโยบาย และ
3. เติมงานใหม่
แบ่งเป็นงานที่เติมได้เลยโดยไม่ต้องใช้งบเพิ่มและงานที่ต้องเริ่มใหม่ โดยโจทย์ที่ต้องตอบมา คือ การนำพระราชดำรัสที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปปฏิบัติเพื่อให้
1.ให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู
2.ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกัน แต่ให้แข่งกับตัวเอง และ
3. ให้เด็กที่เรียนเก่งกว่า ช่วยสอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า ให้ครูจัดกิจกรรมให้เด็กทำร่วมกัน เพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี
“แนวพระราชดำรัสเป็นปรัชญา ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่รัฐบาล และ กระทรวงศึกษาธิการต้องเดินตาม จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องหาคำตอบและนำไปสู่จุดหมายให้ได้ โดยพระราชดำรัสทั้ง 3 ข้อครอบคลุมงานของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ขอย้ำว่าผู้บริหารทุกระดับต้องทำแผนงานโครงการ อย่าลอกกัน อย่าปล่อยให้ลูกน้องทำ ต้องฉีกปัญหาให้ขาด ปรับปรุงผลงานเดิมที่ไม่สัมฤทธิ์ผล ดูว่าที่ผ่านมาทำไมถึงไม่สำเร็จแล้วแก้ไข และกิจกรรมที่จะทำต่อไปก็ต้องตอบได้ว่า ตรงกับตรรกะใดในพระราชดำรัส 3 ข้อนี้” พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าวและว่า ตนให้ความสำคัญกับโครงการพระราชดำริมาก โดยจะมอบหมายให้ รมช.ศึกษาธิการหนึ่งคนคนเข้ามาดูแลเรื่องนี้เป็นหลัก
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กิจกรรมที่จะทำต่อไปต้องตอบได้ว่า ตรงกับตรรกะใดในพระราชดำรัส 3 ข้อนี้ ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีก็มีนโยบายให้ศธ.เร่งดำเนินการ 10 ข้อ คือ
1.ให้ทำเร็ว มีผลสัมฤทธิ์ภายในเดือนกันยายน 2559 ที่เหลือส่งต่อให้รัฐบาลต่อไป
2. ประชาชน สังคม พึงพอใจ
3. ปรับลดภาระที่ไม่จำเป็นของศธ.ลง
4. เร่งปรับหลักสูตรตำรา/แต่ละกลุ่มให้เหมาะสม การพิมพ์ตำราต้องคุ้มค่า
5. ผลิตคนให้ ทันกับความต้องการของประเทศ จบแล้วมีงานทำ ช่วยแก้ไขปัญหาว่างงานและปัญหาสังคมได้
6. ปรับหลักสูตรทำให้เด็ก ครู ผู้ปกครองมีความสุข
7. ใช้สื่อการสอนกระตุ้นผู้เรียน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้
8. ลดความเหลื่อมล้ำจัดการศึกษาให้ทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ
9. นำระบบไอซีทีเข้ามาใช้จัดการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรมและกว้างขวาง
10. เรียนไม่ใช่เพื่อสอบแต่เรียนให้ได้ทักษะชีวิต อยู่ในยุคโลกไร้พรหมแดน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องงบประมาณ ที่ผ่านมาได้รับฟังรายงานจากผู้บริหารองค์กรหลักว่า การใช้จ่ายงบฯเป็นไปตามกรอบที่วางไว้ ซึ่งในส่วนของปีงบฯ 2559 ขอให้ทุกหน่วยงานเริ่มวางแผนโครงการตั้งแต่ไตรมาสแรก และการเสนขอใช้งบกลางขอให้เสนอเฉพาะที่จำเป็น โปร่งใส ตรวจสอบได้ ที่สำคัญต่อไปจะต้องไม่เกิดเหตุแบบกรณีการจัดซื้อจัดจ้างสนามฟุตซอลอีก“
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 27 สิงหาคม 2558