"ประยุทธ์"แนะครูมุ่งพัฒนาคน เน้นสอน เด็กไทยให้คิดเป็น-ช่วยเหลือตัวเองได้อย่างมีศักดิ์ศรี อย่าสอนสุดโต่ง สร้างความขัดแย้ง ย้ำการศึกษาเป้าหมายไม่ใช่แค่ใบปริญญา ที่สำคัญต้องลดภาระครูเพื่อให้เวลากับเด็กในห้องเรียนให้มากขึ้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "ปฏิรูปการศึกษา...สร้างอนาคตประเทศไทย" ในงานสัมมนา เรื่อง "การปฏิรูปการศึกษาและพัฒนามนุษย์ สู่อนาคต" วานนี้ (26 ส.ค.) ที่จัดโดยคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)
โดยกล่าวตอนหนึ่งว่าคุณภาพการศึกษาไม่ได้อยู่แค่คะแนนสอบอีกต่อไป แต่ต้องพูดถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไปพร้อมๆ กัน ด้วยและการจัดการศึกษาระดับต่างๆ ก็ไม่ใช่แค่ให้นักศึกษาสอบผ่านได้รับปริญญาเท่านั้น แต่ต้องมีทางเลือกให้ จึงได้แนะให้นำครูอาชีวะไปสอนในระดับมัธยม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ให้กับเขา เสริมสร้างความเป็นคน ให้ใฝ่รู้ แสวงหาความรู้ คิดวิเคราะห์หาเหตุผล มีจิตสำนึก ซึ่งต้องมีการแก้ไขกันให้ชัดเจน
นอกจากนี้ระบบการศึกษาไม่ใช่การท่องจำเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสอนให้เด็กใช้โซเชียลมีเดีย ในการสื่อสาร ต้องรู้ว่าอะไรใช้ได้ ใช้ไม่ได้ สิ่งที่ตนเห็นวันนี้เด็กๆรักครูกู(กูเกิ้ล) มากกว่าครูในโรงเรียน เพราะครูกูดุเขาไม่ได้ พอถามไปเขารู้ทุกเรื่อง แต่รู้แค่สองบรรทัด และรู้อยู่แค่นั้น ก็เลยไม่เกิดจิตสำนึก ไม่สร้างความชำนาญ เราต้องมาคิดกันว่าต้องทำอย่างไรให้โซเชียลมีเดีย มีประโยชน์กับการศึกษา สามารถนำเอาเทคโนโลยีมาเชื่อมโยงกับการศึกษาให้ได้
นายกฯ กล่าวว่า คนไทยรักชาติไม่ค่อยเป็น เพราะไม่รู้ประวัติศาสตร์ชาติไทย ถ้าเขารู้ว่า เขาเป็นใครมาจากไหนจะได้มีความภูมิใจแล เราต้องสร้างกำลังใจให้เขา เวลาใครไปชักจูงให้ไปทำสิ่งที่ไม่ดี จะได้มีภูมิต้านทาน ซึ่งเราต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชน ไม่ให้หลงเชื่อ มีสติ รู้คิด รู้ทำ รู้ปฏิบัติ ซึ่งเรื่องเหล่านี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยทรงดำรัสไว้หมดแล้ว
การเรียนรู้คือการสงสัย แต่ไม่ใช่ว่าใครเขาบอกก็เชื่อไปหมด ใครชวนไปไหนก็ไป ต้องสอนให้เขารู้ ให้เข้าใจอย่างถูกต้อง
การศึกษาต้องสอนให้เด็กคิดเป็น
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่าการศึกษาของเราต้องยอมรับว่าสอนให้คนคิดไม่เป็น คิดแบบสั้นๆ เอาแต่ที่ป้อนให้เพื่อมาสอบ ปัญหาก็จะตามมาเพราะคนไทยคิดไม่เป็น คิดยาวไม่ได้ คิดอะไรแบบสั้นๆ บูรณาการไม่เป็น
ดังนั้นการศึกษาวันนี้เราต้องสอนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก การพัฒนาประเทศ พัฒนาคนไม่จำเป็นต้องทำลายประวัติศาสตร์ แต่ต้องเพิ่มการเรียนรู้ อย่างการปฏิรูปประเทศวันนี้จำเป็นต้องใช้เวลานานไม่ใช่ 1-2 ปี เสร็จ มันต้องเริ่มตั้งแต่กระบวนการศึกษา การเรียนรู้ การบูรณาการงานร่วมกัน
ขณะเดียวกันก็ต้องแก้ปัญหาต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน ไม่เช่นนั้นเราก็จะพูดกันคนละภาษาและไม่เข้าใจกัน โลกทุกวันนี้ที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะความจน ตนไปพูดในทุกเวทีโลกว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากความจนของคนในประเทศนั้นๆ แล้วก็เริ่มต้นด้วยการปลุกระดมภายในประเทศเพื่อต่อต้านรัฐบาล ต่อมาต่างประเทศก็เข้ามายุ่งด้วย ดังนั้นการแก้ปัญหาของโลกคือการพัฒนาการศึกษา การช่วยเหลือ การยกระดับการมีรายได้ที่เท่าเทียม
แนะลดภาระครู-เพิ่มเวลาให้เด็ก
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่าอยากให้ลดภาระของครูลงได้หรือไม่ เรื่องการประเมินผล ไม่ใช่เอาเวลาในห้องเรียนของเด็กมาทำอย่างอื่น อาจจะต้องทำงาน สร้างคนประเมินลงไป นำไปสู่การกระจายอำนาจการศึกษาลงไปอีก วันนี้ตนกำลังเร่งให้กระทรวงมหาดไทย ให้ท้องถิ่นปรับปรุงตัวเอง ถ้าอยากได้อำนาจ ได้งบประมาณต้องปรับปรุงตัวเอง วันนี้หลายที่ทำงบประมาณไม่เป็นเพราะเขาไม่รู้
"รัฐบาลนี้ไม่ใช่พรรคการเมือง ทุกกระทรวงร่วมหัวจมท้ายกับผมหมด ลงเรือลำเดียวกัน จะเรือแป๊ะหรือไม่แป๊ะผมไม่รู้ ผมไม่เคยเรียกเรือแป๊ะ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เรียกเองบางคนบอกเรือแป๊ะจะล่มแล้ว มันไม่มีล่มหรอก ตราบใดที่พวกเรายังอยู่เคียงข้างกันเสมอ ขอกำลังใจเท่านั้นเอง ผมทำใจขาดให้อยู่แล้ว" นายกฯ กล่าว
อยากให้ศธ.ทำให้เด็กมีความสุข
นายกฯ กล่าวว่า อยากให้กระทรวงศึกษาทำเรื่องใกล้ตัวเด็ก ให้เด็กมีความสุข ให้พ่อแม่มีความสุข ไม่ต้องเอาของไปจำนำ ไปดูค่าใช้จ่ายนักเรียน ไม่ใช่ไม่มีค่าเล่าเรียนแต่เก็บค่าบำรุงสองหมื่น ถ้าเราสามารถทำระยะสั้นและวางระยะยาวได้ วันหน้าก็มีการขับเคลื่อน ทำต่อ ทุกคนมีส่วนร่วมทั้งหมด สปช. ครม.เก่าอย่าน้อยใจ ตนเข้าใจความรู้สึก แต่ต้องยอมรับเข้าใจสถานการณ์ หลายๆอย่างมีการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ท่านไม่เก่ง อีกทั้งตอนนี้กำลังรื้อโครงสร้างกระทรวงอยู่ หากหน่วยไหนในกระทรวงไหนไม่มีผลงานยุบไป เสียพลังงานเปล่า
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ขอให้ทุกคนร่วมมือกันตนจะอยู่หรือไม่อยู่ ไม่เป็นไร ไม่ต้องเล่นไพ่รอตำรวจ รอว่าเมื่อไหร่ตนจะไป ตนไม่ต้องการอำนาจไว้แต่ทำอย่างไรเราจะไปด้วยกัน ไม่ต้องมารอหรือถามตนว่าจะไปเมื่อไหร่ ถ้ารอก็จะไม่ไป แต่ถ้าบอกว่าจะช่วยกันและเดินไปด้วยกัน ตนจะไปเอง--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ