รมว.ศึกษาธิการ เดินหน้างานปฎิรูปการศึกษา ลดชั่วโมงเรียนในวิชาหลักเริ่มภาคเรียนที่ 2 จี้สพฐ.ต้องทำให้ได้ 10% ของโรงเรียนทั้งหมด
วันนี้(26 ส.ค.)พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้รับฟังข้อมูลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลของแต่ละองค์กร ซึ่งเท่าที่ดูคิดว่าโครงการต่าง ๆ น่าจะเริ่มเห็นผลในทางปฏิบัติได้อีกในไม่ช้า โดยเฉพาะเรื่องการลดเวลาเรียนของนักเรียน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้ดำเนินการไปบ้างแล้วในระดับประถมศึกษา แต่ยังมีบางจุดที่ต้องทำให้เห็นผลชัดเจนในทางปฏิบัติ อาทิ การลดชั่วโมงเรียนในวิชาหลักลง เพื่อให้นักเรียนได้กลับบ้านหรือมีเวลาทำกิจกรรมเสริมอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับช่วงวัยมากขึ้น ขณะเดียวกันขอให้เน้นเรื่องการอบรมครูให้มีความเข้าใจและสามารถจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมภายในภาคเรียนที่ 2/2558 และให้โจทย์ไปว่า 38,000 โรงเรียนในสังกัดของ สพฐ. ขอให้มีโรงเรียนที่นำร่องลดเวลาเรียนอย่างน้อย 10% ของโรงเรียนทั้งหมด ซึ่งในช่วงแรกขอให้เน้นที่ระดับประถมก่อน
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไป นอกจากนี้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ขยายการเรียนการสอนระบบทวิภาคีให้มากขึ้น โดยเน้นสถาบันที่มีปัญหาทะเลาะวิวาทบ่อย ๆ เพราะถ้าเด็กมีทางเลือกที่ดีกว่า เรียนไปทำงานไป เด็กก็จะไม่ไปก่อเหตุทะเลาะวิวาท รวมให้เน้นการสอนอาชีพเฉพาะด้านของกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) ที่ต้องการให้ มทร.แต่ละแห่งมีจุดเด่นในการผลิตผู้เรียนสาขาอาชีพเฉพาะทางแตกต่างกันออกไป ซึ่งนอกจากจะต้องปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรแล้ว ยังจะต้องพัฒนาครูผู้สอนและเครื่องมือช่วยสอนให้มีประสิทธิภาพ โดยขอให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) เร่งดำเนินการภายในเดือนกันยายนนี้ โดยอาจเริ่มต้นจากการจัดให้มีทั้งสถาบันหลักและสถาบันรองในแต่ละสาขา เช่น มทร.ตะวันออก แม้จะมีความชำนาญด้านการสอนต่อเรือ แต่ก็ต้องวางแผนจัดระบบสำหรับเด็กที่อยู่ห่างไกล โดยมี มทร.ในพื้นที่อื่นที่มีความพร้อมจัดสาขาอาชีพนี้รองรับด้วย เป็นต้น
“เท่าที่ดูภาพรวมการทำงานของแต่ละองค์กร ขณะนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาล ซึ่งผมขอเน้นเรื่องการปฏิรูปการศึกษาเป็นหลัก ส่วนการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นก็ยังต้องทำควบคู่กันไป โดยในเร็ว ๆ นี้ จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) องค์การค้าของ สกสค. และสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา มาพูดคุยถึงแนวทางการแก้ปัญหา ว่า ที่ผ่านมาทำอะไรบ้างแล้วและมีอะไรที่ต้องทำต่อ” พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าว
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 สิงหาคม 2558