"ประยุทธ์" เสวนาปฎิรูปการศึกษา ชี้การเรียนที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ให้เกิดการแข่งขันทำเด็กติดกับดักตัวเอง แนะ ศธ.เติมเต็มเรื่องไอซีทีดึงครูเก่งเป็นต้นแบบจัดการเรียนการสอน
วันนี้ (26 ส.ค.) ที่สโมสรทหารบกวิภาวดี คณะกรรมาธิการปฎิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) จัดโครงการสัมมนาเรื่อง "การปฎิรูปการศึกษาและพัฒนามนุษย์สู่อนาคต" โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในการเสวนา เรื่องปฎิรูปการศึกษา..สร้างอนาคตประเทศไทย ว่า การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญระดับต้นๆ ในการปฏิรูปประเทศ เป็นรากฐานของทุกอย่าง ที่จะทำให้เราก้าวข้ามกับดักของตัวเอง สร้างคนให้รู้จักตัวเอง มีจิตสำนึก ไม่ดูถูกคน ดูแลตัวเองและครอบครัวได้อย่างมีศักดิ์ศรี เราต้องสร้างพลเมืองที่รู้จักสิทธิและหน้าที่ การปฏิรูปการศึกษา ประการสำคัญ คือ ต้องสร้างคนให้มีความรู้ความสามารถตรงตามความต้องการของประเทศ เตรียมคนให้เพียงพอต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและการโรงแรม ไม่ใช่เน้นสายสังคมซึ่งผลิตจนล้นจบมาแล้วตกงานถึง 60% เราลงทุนเรื่องการศึกษามาก แต่ถูกใช้ไปกับงบฯบุคลากรเป็นส่วนใหญ่
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า หากสร้างความมั่นคงในชีวิตไม่ได้ และยังมีระบบการศึกษาที่ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ จะทำให้ประเทศยิ่งตกต่ำ หลายเรื่องที่สปช.เสนอ ตนได้อ่านแล้วและอยากเน้นบางเรื่อง เพื่อให้เข้าใจตรงกัน คือ การขับเคลื่อนการพัฒนาคน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุดของประเทศ ต้องเริ่มต้นจากการศึกษาที่ทั่วถึง เท่าเทียมและมีประสิทธิผลต่อเนื่องตลอดชีวิตทั้งในและนอกระบบ ซึ่งการปฏิรูปการศึกษาไม่ได้มุ่งเน้นที่ผลสัมฤทธิ์เสมอไป ไม่ใช่ให้นักเรียน นักศึกษาเรียนตามหลักสูตร แค่สอบผ่าน มุ่งเน้นปริญญาเท่านั้น อย่าทำให้เด็กติดกับดักตัวเอง แต่ต้องสร้างให้เขาเป็นคนใฝ่รู้ คิดวิเคราะเป็น เป็นคนดีมีคุณธรรม การศึกษาต้องทำคนให้เป็นคน ไม่ให้เด็กเรียนมากเกินไป ลดชั่วโมงเรียนลงให้เหมาะสม รวมถึงทำอย่างไรให้สามารถใช้โซเชียลมิเดียให้เกิดประโยชน์ทางการศึกษา เชื่อมโยงกันระบบไอซีที ไม่ใช่แค่ดาวเทียมซึ่งใช้ระบบการศึกษาทางไกลเท่านั้น ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของกระทรวงศึกษาธิการ ต้องพัฒนาเพิ่มเติมใช้ดาวเทียมอย่างเดียวไม่พอต้องเพิ่มส่วนที่ขาด อาทิ ให้ติวเตอร์ที่เก่งๆ ทำซีดีแจกให้ผู้เรียน และต้องสอนให้เขามีวิจารณญาณที่ดีในการเสพสื่อผ่านโซเชียลมิเดียด้วย
"หัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา คือ สร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนเกิดความสนุก ไม่ใช่เรียนมาก ประเทศไทยใช้เวลาเรียนมากที่สุดในประเทศอาเซียน เด็กฉลาดเรียนแต่ไม่ฉลาดรู้ ดังนั้นต้องสอนให้เด็กคิดให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศ หลายประเทศที่พัฒนาแล้วใช้การศึกษาในการก้าวข้ามความเป็นประเทศที่ประชาชนมีรายได้ระดับปานกลาง วันนี้ประเทศไทยมีประชาชนที่รายได้ต่ำถึง40% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ยังมีคนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาไม่เข้าใจรัฐบาล ผมพยายามพัฒนาการศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศให้เกิดความเท่าเทียม"นายกฯกล่าว
อ่านต่อที่ : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 สิงหาคม 2558